บรรดิษฐ์ อินต๊ะ

บรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เป็นบุคคลที่ตกเป็นข่าวบ่อยครั้งทั้งสื่อส่วนกลางและสื่อท้องถิ่นมักติดตามขอสัมภาษณ์เสมอเกี่ยวกับการเตรียมการรับสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นผู้ปฏิบัติงาน ที่ถูกยิงคำถามเสมอว่า บางระกำโมเดลเป็นอย่างไร คืบหน้าไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว มีบางระกำโมเดลแล้วน้ำจะท่วมหรือไม่

 

บรรดิษฐ์  อินต๊ะ เคยถูกนำเสนอในคอลัมน์คนในข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์มาแล้วเมื่อปี 2554 ช่วงนั้นเป็นคีย์แมนคนสำคัญ ในการร่วมบริหารจัดการน้ำแม่น้ำน่าน ไม่ให้ท่วมเขตเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลก กรกฏาคม 2555 ขอนำเสนออีกครั้ง เจ้าตัวขอร้องสื่อมวลชนช่วยอธิบายบางระกำโมเดล ให้ชาวพิษณุโลกได้เข้าใจว่า บางระกำโมเดล เป็นวิถีคิด กระบวนการในการทำงานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งแบบบูรณาการ เป็นแนวคิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้กรอบการทำงานมา และใช้ชื่อ บางระกำโมเดล เป็นชื่อนำร่อง เพราะเป็นชื่อที่แพร่หลาย และแนวคิดในการจัดการน้ำท่วมก็มาเริ่มต้นที่อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สถานที่ที่ขึ้นชื่อเรื่องน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี

 

 

ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ณ กระทรวงมหาดไทยและมีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยก “บางระกำโมเดล” มากล่าวถึง และมีบัญชาให้นำบางระกำโมเดลที่จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการอยู่ไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเชิงระบบแบบบูรณาการ หัวใจสำคัญของบางระกำโมเดล ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง ก็คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จังหวัดและหน่วยงาน จะต้องเข้าชาร์จหรือเทคแอ็คชั่น ด้วยการลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน อย่างรวดเร็ว ทันที ทันเหตุการณ์ และถูกจุด ลดความรู้สึกของประชาชนที่ประสบภัยว่าถูกทอดทิ้งหรือไม่ได้รับการเหลียวแลจากราชการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายการดำเนินงานบางระกำโมเดล โดยใช้หลัก 2 P 2 R หลังจากรับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ( 2554 ) ไม่รอช้าเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้มีขับเคลื่อนบางระกำโมเดล ทันที กล่าวโดยสรุป แนวทางการดำเนินงาน บางระกำโมเดล

 

1. การเตรียมการ (Preparation) จังหวัดจะมีการจัดทำคลังข้อมูล ด้านพื้นที่ ที่แบ่งเป็นพื้นที่วิกฤต พื้นที่เสี่ยง พื้นที่เฝ้าระวัง รวมถึงข้อมูลพื้นฐานต่างๆเกี่ยวกับสภาพปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก และอำเภอบางระกำ ข้อมูลการช่วยเหลือประชาชน เช่น การแจกถุงยังชีพ งบประมาณ และอื่น ๆ โดยมอบหมายให้ กลุ่มยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัด เป็นหน่วยงานเจ้าภาพและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการวางแผน กำหนดแผนให้ชัดเจน เป็นระบบ

 

2. การช่วยเหลือเบื้องต้น( Response) จังหวัดมอบหมายให้อำเภอพื้นที่ เป็นแม่งาน ที่จะต้องระดมสรรพกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ทันที ถูกจุด ในเบื้องต้น เน้นในเรื่องของปัจจัย 4 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ให้อำเภอบางระกำ เป็นแม่งาน “บางระกำโมเดล” ซึ่งจะต้องจัดทีมและแบ่งงานช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯอำเภอ จัด Call Center อยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง คอยรับทราบข่าวสาร แจ้งการช่วยเหลือให้หน่วยเกี่ยวข้อง เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือได้ทันที และ จังหวัด มอบให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทีมแพทย์ พยาบาล เข้าดูแลช่วยเหลือในเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยของประชาชนที่ถูกน้ำท่วม

 

3. การฟื้นฟู เยียวยา (Recovery) จังหวัด มอบหมายให้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิษณุโลก เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ที่ดูแลในเรื่องข้อมูลการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลด และประสานงานกับหน่วยงานร่วม ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านเกษตร(พืช) ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ด้านสาธารณสุขและการฟื้นฟูจิตใจ ด้านศาสนสถาน ด้านสถานศึกษา ด้านลูกค้าของ ธ.ก.ส. รวมถึงด้านการประชาสัมพันธ์

 

4.การแก้ไขระยะยาว(Prevention) จังหวัด ได้มอบหมายให้ โครงการชลประทานพิษณุโลก เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ที่จะต้องวางแผน จัดหางบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว ที่จะต้องมีการบริหารจัดการกับน้ำเกิน และจัดการกับน้ำเก็บที่จะนำมาใช้ในฤดูแล้ง ทั้งในเรื่อง ระบบทางด่วนน้ำ (Water way) การจัดทำแก้มลิง การจัดทำคลองเชื่อมแก้มลิง การจัดทำแก้มลิงขนาดใหญ่ ให้เป็นพื้นที่เช่า และการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำยม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า บางระกำโมเดล ไม่ใช่สูตรสำเร็จ หรือยาวิเศษ จนผู้คนหลงเข้าใจผิดคิดกันว่า เมื่อเกิดหรือมีบางระกำโมเดลแล้ว ปัญหาน้ำท่วมบางระกำจะหมดไป นั่นไม่ใช่ แม้จะมีบางระกำโมเดล น้ำก็จะยังท่วมบางะกำอยู่ เพราะบางระกำพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ เป็นแอ่งกะทะ ของลุ่มน้ำยม เป็นวิถีของคนบางระกำ ที่ยังจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่อย่างนี้ เพียงแต่บางระกำโมเดลจะเป็นตัวช่วยหรือเป็นต้นแบบและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยมีความเดือดร้อนน้อยลง เพราะเมื่อเกิดภัยทุกฝ่ายมีต้นแบบในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบได้อย่างรวดเร็ว ทันที ถูกจุด ลดปัญหาผลกระทบต่างๆที่จะตามมา และบางระกำโมเดล จะช่วยทำให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าอยู่กับน้ำได้อย่างไร นี่คือหัวใจของบางระกำโมเดลที่นายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ต้องการให้เกิดขึ้นและจะเป็นความหวังของคนไทยทั่วทั้งประเทศที่จะได้อานิสงส์ ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืนนั่นเอง

 

 

บรรดิษฐ์ เผยต่อว่า ผ่านมาเกือบ 1 ปี คำถามที่เจอบ่อยคือบางระกำโมเดลคืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าบางระกำโมเดลคือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่บางระกำโมเดลคือวิธีการทำการ ที่ขณะนี้ในขั้นตอนที่ 1.การเตรียมการ เราเตรียมพร้อม 100 % แล้ว ทั้งการพร่องน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ การระบายน้ำนอนคลองในลุ่มน้ำยมออก การขุดลอกคูคลอง ขั้นตอนที่ 2 การช่วยเหลือหลายหน่วยงานก็ทำอย่างเต็มที่ในช่วงน้ำท่วม การฟื้นฟูเยียวยา ในพื้นที่น้ำท่วมอย่างอ.บางระกำ และอ.พรหมพิราม ชลประทานต้องจัดหาน้ำมาช่วยการเพาะปลูกในช่วงเวลาเพาะปลูกระยะ 8 เดือน และการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็กำลังดำเนินการอยู่หลายด้าน ทั้งการทำแก้มแล้งขนาดใหญ่ เป็นต้น ในวันนี้ จึงขอบอกว่า บางระกำโมเดล เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่ว่าน้ำจะท่วม หรือ เจอภัยแล้ง

 

 

แสดงความคิดเห็น