เตรียมพร้อมพื้นที่รับน้ำนอง1.8แสนไร่

วันที่ 29 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมท็อปแลนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.พิษณุโลก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก จัดเวทีเสวาสื่อมวลชนพบส่วนราชการ เป็นการแถลงข่าวสื่อมวลชนรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากให้ส่วนราชการมานั่งแถลงข่าวแล้ว ยังเปิดเวทีเสวนาหลากปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก มีนายชัยโรจน์  มีแดง ผวจ.พิษณุโลก เป็นประธานแถลงข่าวพร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ในวันนี้ มีการถกสถานการณ์กับสื่อมวลชนอาทิ เรื่องปัญหาการจราจร เรื่องการรับมืออุทกภัย การจัดคาราวานสินค้าราคาถูก

 

นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ในปี 2554 จังหวัดพิษณุโลกประสบภัยน้ำท่วมมากกว่าทุก ๆ ปี ฝนตกหนัก ทั้งลุ่มน้ำน่านและลุมน้ำยมถูกน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและพื้นที่บ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก ในปี 2555 ได้เตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วมปีนี้พร้อมแล้ว

ในส่วนพิษณุโลกมีลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ในส่วนของลุ่มน้ำน่านมีเครื่องมือใหญ่ในการบริหารจัดการ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ จ.อุตรดิตถ์ ขณะนี้กรมชลประทานพร่องน้ำเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้เหลือน้ำในเขื่อน 46 % ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำในเขื่อน 26 % ก็จะสามารถรองรับน้ำได้มาก และมีเขื่อนนเรศวร ที่เป็นเครื่องมือในการควบคุมปริมาณน้ำ สามารถควบคุมได้ ไม่น่ามีปัญหา ปีที่แล้ว ผ่านมาหนึ่งฤดูการน้ำท่วมหนัก น้ำน่านก็ไม่ได้มีผลกระทบกับตัวเมืองพิษณุโลกนัก ส่วนลุ่มน้ำยมวันนี้มีการพร่องน้ำ นำน้ำนอนคลองออกให้หมด เพื่อเตรียมคลองเหล่านี้ไว้รับน้ำใหม่ ขณะที่การเตือนภัยเรามีสถานีวัดน้ำ Y14 แม่น้ำยมที่อ.ศรีสัชนาลัย และสถานีวัดน้ำแม่น้ำยมที่อ.สอง จ.แพร่ จะสามารถทราบปริมาณน้ำ และแจ้งเตือนภัยได้ทัน

 

ส่วนพื้นที่ตอนล่าง พื้นที่รับน้ำนั้น ที่ลุ่มน้ำต่ำของแม่น้ำยม ณ วันนี้  เรามีการขุดลอกคลองต่าง ๆ เพื่อใช้ระบาย คลองเกตุ คลองกล่ำ คลองกรุงกรัก คลองเมม และการขยายประตูระบายน้ำบางแก้ว ส่วนคลองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือคลอง DR 2.8 ที่ระบายน้ำจากแม่น้ำยมออกสู่แม่น้ำน่าน ก็มีการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำได้มากขึ้น  ทั้งหมดเตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว ถ้าเกิดฤดูน้ำหลากก็จะใช้เครื่องมือเหล่านี้บริหารจัดการ เพราะลุ่มน้ำยมเราไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในแต่ละปี มีน้ำ 4,100 ล้านลบ.ม. แต่เก็บได้แค่ 406 ล้านลบ.ม. จึงต้องใช้วิธีบริหารจัดการโดยระบบเครือข่ายคลองเหล่านี้

 

แต่ที่น่าห่วงคือลุ่มน้ำวังทอง และลุ่มน้ำคลองชมพู ที่เป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน เป็นสองลุ่มน้ำที่น่าเป็นห่วงที่สุด เนื่องจากชลประทานไม่มีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ก็อยู่ในเขตอุทยานฯ ดังนั้นจึงทำได้เพียงการเฝ้าระวังปริมาณน้ำในล้ำน้ำวังทอง และคลองชมพู ด้วยการตัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำ จะสามารถแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนที่อยู่ด้านล่างได้

 

นอกจากนี้ พื้นที่รองรับน้ำนอง ตามแผนของรัฐบาลที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำ หากเกิดเหตุการณ์น้ำมากเหมือนปี 2554 จังหวัดพิษณุโลก ชลประทานพิษณุโลกได้เตรียมพื้นที่รองรับน้ำนองในประเภทที่ 1 ไว้จำนวน 1.8 แสนไร่ เป็นพื้นที่ในเขตคึรงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล เป็นพื้นที่ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำเข้าและน้ำออกได้ ครอบคลุมพื้นที่อ.พรหมพิราม อ.เมือง อ.บางระกำ และอ.บางกระทุ่ม ถ้าหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ส่วนนี้ในการรับน้ำ รัฐบาลจะมีกฏเกณฑ์ในการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้ ส่วนที่เหลืออีก 3 ประเภท ได้แก่ ประเทภที่ 2 ควบคุมน้ำออกได้ ควบคุมน้ำเข้าไม่ได้ ( พิษณุโลกไม่มี ) ประเภทที่ 3 คือแก้มลิงใหญ่ ๆ อาทิ ทะเลหลวง บึงบอระเพ็ด ( พิษณุโลกไม่มี ) และ ประเภทที่ 4 ที่ไม่สามารถควบคุมน้ำเข้าออกได้เลย ได้แก่พื้นที่น้ำท่วมปกติในเขตอ.พรหมพิราม อ.บางระกำ

แสดงความคิดเห็น