วันที่ 28 มิถุนายน 2555 นายคมสัน วัฒนวนาพงษ์ ผู้จัดการสำนักงานสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานสาขาพิษณุโลก แถลงข่าวกับสื่อมวลชนจังหวัดพิษณุโลก ที่โรงแรมรัตนาปาร์ค ถนนมิตรภาพ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ว่า ทาง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันธุรกิจ SMEs ตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะ 4 และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) เพื่อต่อยอดความสำเร็จให้กับธุรกิจ SMEs ในวงเงินรวมกว่า 34,000 ล้านบาท
ซึ่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 (PGS ระยะที่ 4) บสย. เป็นการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอในลักษณะ Portfolio มีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 5 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปี 1.75% ของวงเงินค้ำประกัน ตลอดอายุการค้ำประกัน
ส่วนโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) โดย บสย. เป็นการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ไม่เกิน 2 ปี ในลักษณะ Portfolio มีวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 7 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปีอยู่ที่ 2.5% ของยอดค้ำประกันคงค้าง โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมให้ในปีแรกในอัตราร้อยละ 1.75 และผู้ประกอบการจ่ายเองร้อยละ 0.75 โดยทั้งสองโครงการผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด โดยขณะนี้ บสย.พิษณุโลกได้พร้อมเปิดค้ำประกันสินเชื่อให้ธุรกิจ SMEs ทั้งจาก 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างแล้ว
นายคมสันต์ กล่าวว่า ทาง บสย. มีหน้าที่ที่จะทำให้ SME ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถกู้เงินได้มากขึ้น ทางบสย. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 17 สถาบันการเงินในการปล่อยกู้ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 4 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบายของ บสย. เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในวงเงินที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน
//////