ดึงผู้ประสพภัยพิบัติเสวนารับมือน้ำหลาก

วันที่ 25มิถุนายน2555 ที่โรงแรมลีลาวดี รีสอร์ท อ.เมือง จ.พิษณุโลก มูลนิธิคนเพียงไพร จัดเสวนา”โลกร้อนการปรับตัวของชุมชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”โดยมี 7ชุมชนที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเป็นกลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติในอำเภอต่างๆอาทิ อ.เนินมะปราง อ.ชาติตระการ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ ร่วมเสวนาทั้งสิ้น160 คน

 

นายสาคร สงมา มูลนิธิคนเพียงไพร กล่าวว่าเสวนาที่จัดขึ้นเพื่อเข้าใจเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติท่ามกลางภาวะโลกร้อนจึงต้องศึกษาพร้อมระดมความคิดเห็น ผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีต่อชุมชนหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในหลากรูปแบบ ทั้งน้ำท่วมขัง น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม ฯลฯ  ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบและมีแนวโน้มที่อาจเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลตรวจพบว่า
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก”ภาวะโลกร้อน”โดยมูลนิธิคนเพียงไพรได้รับการสนับสนุนจากHEINRICH BOLL STIFTUNG SOUTHEAST ASIAภายในแผนงานปรับตัวและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท่ามกลางภัยพิบัติ

 

นายณัฐวุฒิ อุปปะ ศูนย์เสริมสร้างองค์กรชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 ที่ผ่านมาคนเราจะต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำอย่างไรให้คนอยู่กับธรรมชาติได้การสร้างถาวรวัตถุป้องกันน้ำท่วมไม่ได้แก้ปัญหา รัฐบาลควรแนะนำให้ประชาชนรับมือและให้อยู่กับธรรมชาติให้ได้ พร้อมรับรู้สิ่งเตือนภัยลางบอกเหตุตามธรรมชาติ เช่น สัตว์ป่าพลัดหลง หรือ เก้งวิ่งออกจากป่าเข้าหมู่บ้าน บอกให้รู้เลยว่าจะมีดินโคลนถล่ม, ถ้าไส้เดือนออกมาในฤดูฝน แสดงว่า น้ำจะท่วม,ไก่ตากปีกกลางแดด ฝนจะตกหนักถึงขั้นพายุ,หากก้านของเครือกล้วยยาวมากแสดงว่า ปีนั้นฝนตกดี ถ้าก้านเครือสั้นแสดงว่า ฝนไม่ค่อยตก, ถ้าท้องฟ้าเป็นสีแดงทางทิศตะวันตก เชื่อว่าปีนั้นน้ำจะแล้ง ถ้าท้องฟ้าเป็นสีแดงทางทิศตะวันออกก็เชื่อว่า น้ำดีถ้าฝนตก ฟ้าขาว ดาวแจ้ง แปลว่า ฝนจะแล้ง น้ำจะขาด เป็นต้น

 

ในอดีตคนพิษณุโลกและชาวอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย เมื่อน้ำท่วมขัง ไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติ แต่เป็นโอกาสของคนในชุมชนที่ปรับตัวอยู่กับภาวะน้ำท่วมและใช้ประโยชน์จากน้ำหลาก ผลิตปลาสดสู่ปลาแห้ง และทำน้ำปลา เป็นการสร้างรายได้จากภาวะน้ำท่วม แต่ปัจจุบันน้ำท่วมขังระยะยาวถือเป็นภัยพิบัติเพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ นาข้าวเสียหาย เพราะสภาพอากาศแปรปรวนน้ำมาเร็วกว่าปกติ ย่อมส่งผลกระทบไปถึงภาวะหนี้สิน ดังนั้นจะต้องตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนบางระกำควรย่นเวลาปลูกข้าวให้สอดคล้องกับระยะภัยพิบัติ เช่นเก็บเกี่ยวข้าวครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวข้าวครั้งที่ 2เดือนเมษายนเพื่อลดความเสียหาย

 

แสดงความคิดเห็น