เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้รับการยกฐานะจากอบต.บางระกำ ขึ้นเป็นเทศบาลตำบลลบางระกำเมืองใหม่ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2554 และมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลบางระกำเมืองใหม่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 และการบริหารงานยังเป็นผู้บริหารคนเดิมต่อเนื่องมาจากสมัยเป็นอบต.บางระกำ คือนายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศบาลบางระกำเมืองใหม่
พื้นที่ปกครองของเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ครอบคลุม 19 หมู่บ้านประชากรรวมทั้งสิ้น 12,151 คน แยกเป็น ชาย 5,817 คน หญิง 6,334 คน จำนวนครัวเรือน 3,758 หลังคาเรือน เนื้อที่ 135.58 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,738 ไร่ พื้นที่เกษตรโดยประมาณ 56,302 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัยโดยประมาณ 5,349 ไร่ และอื่นๆ 23,087 ไร่สภาพภูมิประเทศ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ลักษณะพื้นที่ตอนบนมีความลาดเอียงจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้บริเ วณตอนกลางตำบลเป็นแอ่ง มีแม่น้ำยมไหลผ่านระหว่างกลางตำบลราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษต รกรรม รองลงมาคืออาชีพรับจ้างและค้าขาย คุณภาพของดินเสื่อมคุณภาพเมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะมีน้ำไหล่บ่าท่วมไร่นาของเกษตรกรแต่เมื่อถึงฤดูแล้งจะขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโ ภค บริโภค และการเกษตรกรรม และมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่ง คือ แม่น้ำยม บึงตะเครง บึงขี้แร้ง และบึงระมาน
หลังจากการเลือกตั้งเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2555 นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ ได้เข้ามาบริหารงานเทศบาลบางระกำเมืองใหม่ต่อเป็นวาระที่ 3 สมัยแรกเมื่อปี 2547 ครั้งนั้นได้รับการคัดเลือกจากสภาอบต.บางระกำ สมัยที่สองมาจากการเลือกตั้งนายกอบต.บางระกำโดยตรง
วิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ เปิดเผยว่า ในระยะเริ่มต้นของการบริหารงานได้มุ่งเน้นให้ราษฏรในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม มีความร่วมมือกับเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ให้มากขึ้น ในโครงการบ้านน่าอยู่ ตำบลน่ามอง เพื่อให้ราษฏรได้ตื่นตัว เริ่มจากเรื่องใกล้ ๆ ตัวก่อน กระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจทำความสะอาดหน้าบ้านของตนเอง จากนั้นกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดคุ้มบ้าน หมู่บ้าน และในภาพรวม ๆ ก็จะสร้างจิตสำนึกให้ทั้ง 19 หมู่บ้านร่วมทำหน้าตาของเทศบาลให้น่ามอง
และเริ่มโครงการช่วยเหลือสงเคราะห์ราษฏรที่มีความเดือดร้อนเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ออกสำรวจครัวเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนผุพัง อยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วม ให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่จะเริ่มเข้าไปสำรวจ และปรับปรุงให้
ขณะที่ระยะยาว หลังจากยกฐานะจากอบต.บางระกำ ขึ้นมาเป็นเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ จะส่งผลให้มีงบประมาณอุดหนุนเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20-30 % จากเดิมเมื่อครั้งเป็นอบต.บางระกำ มีงบประมาณอยู่ที่ปีละ 31-32 ล้านบาท และในปีแรกของการยกฐานะฯ ประมาณการรายรับของเทศบาลบางระกำเมืองใหม่อยู่ที่ 40-42 ล้านบาท และด้วยข้อแตกต่างระหว่างการเป็นอบต.บางระกำ กับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ทำให้ภารกิจ หน้าที่ และงบประมาณในการบริหารงานท้องถิ่นมีมากขึ้น โดยสิ่งที่จะทำเพิ่มขึ้นได้แก่ เรื่องการศึกษา การทำเทศพาณิชย์ หรือ ตลาด การบริการด้านสาธารณสุข การจัดการขยะในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในการยกฐานะขึ้นมา ส่งผลดีทางด้านจิตวิทยา ประชาชนในขอบเขตพื้นที่ มีความภาคภูมิใจในชุมชนมากขึ้น
ส่วนระยะยาวที่อยากบริหารงานเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ได้วางแผนการพัฒนาตำบลให้รองรับการเจริญเติบโตจากเทศบาลบางระกำ โดยการวางผังเมืองของเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ ให้รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง และปรับตัวเข้ากับภัยพิบัติน้ำท่วมให้ได้ เป็นการเตรียมการสร้างเมืองบางระกำใหม่ โดยเน้นการวางผังเมืองเป็นหลัก
ขณะที่พื้นที่ขอบเขตปกครองของเทศบาลตำบลบางระกำเมืองใหม่ มักประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูฝน จากสภาพแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งนั้น นายกเทศบาลบางระกำเมืองใหม่กล่าวว่า มีการดำเนินการทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้ามาช่วยเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตามแนวคิดบางระกำโมเดลของนายกรัฐมนตรี ในด้านโครงสร้างพี้นฐาน กรมชลประทาน และทรัพยากรน้ำ ได้เตรียมการขุดลอกคูคลอง แก้มลิง เพื่อบริหารจัดหารน้ำท่วมและภัยแล้งในเขตอำเภอบางระกำ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมน้ำท่วม โดยคาดหวังว่า ทำอย่างไรเมื่อน้ำท่วมควรจะท่วมในเวลาอันควร เกษตรกรมีเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน และเมื่อน้ำท่วมแล้วต้องไม่ท่วมหนักและขังนานเกินไป และหลังจากน้ำท่วมผ่านไป จะต้องมีวิธีบริหารจัดการน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย