มหาวิทยาลัยนเรศวร จับมือกับสถาบัน Complementary Alternative Medicine Academy ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกนำนวัตกรรมการ Taping technique มาใช้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้กับนิสิตเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยมีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุม 301 อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาภูมิปัญญาไทยและศาสตร์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทย โดยมีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อให้เกิดบัณฑิต ผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพ นักการแพทย์แผนไทยที่มีความรู้กว้างขวางในการเลือกประยุกต์ใช้ศาสตร์ต่าง ๆ ในการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน ปัจจุบันคนไทยประสบปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพที่เกี่ยวกับการเจ็บปวดความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นเหตุให้ต้องมีการใช้ยาแก้อักเสบและยาคลายกล้ามเนื้อมารับประทานเอง ซึ่งทำให้เกิดผลข้างเคียงของยา คุณภาพชีวิตลดลงและสิ้นเปลืองเงินในการสั่งยาจากต่างประเทศ ทางคณะสาธารณสุข ฯ ได้เล็งเห็นประโยชน์การนำศาสตร์การแพทย์ทางเลือก Taping Therapy จึงได้จับมือกับสถาบัน Complementary Alternative Medicine Academy ประเทศญี่ปุ่น เตรียมจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมให้กับนิสิตทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ Hatanaka Ryoichi ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญา ในศาสตร์ Taping Therapy ซึ่งเทคนิคดังกล่าวนี้ ยังไม่มีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อนในประเทศไทยถือเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาศาสตร์การแพทย์ทางเลือกแห่งแรก ทั้งนี้จะมีการนำหลักสูตรฝึกอบรม TapingTherapyมาใช้ในการเรียนการสอนให้กับนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อสร้างบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ เพื่อรองรับความต้องการการเป็นศูนย์กลางของระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงการเผยแพร่สู่ประเทศสมาชิกอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ศาสตร์วิชา Taping Therapy เป็นการดูแลผู้ประสบปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับการเจ็บปวดจากความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงการเสริมความงามโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด โดยเทคนิคดังกล่าวเป็นการใช้แผ่นเทปพิเศษร่วมกับสมุนไพรท้องถิ่นติดบริเวณสรีระของร่างกายเพื่อช่วยลดความตึงและแรงเค้นที่เกิดกับกล้ามเนื้อที่ได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ ทำให้สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นการเสริมแรงกับการรักษาโดยศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์อื่น และอาจมีการใช้เครื่องมือกระตุ้นด้วยคลื่นความสั่นสะเทือนเพื่อให้เกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อร่วมด้วยในบางรายที่การเจ็บปวดของกล้ามเนื้ออยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถใช้การกดจุดได้ ซึ่งเป็นการดูแลสุขภาพที่มีราคาย่อมเยา โดยในปัจจุบันอาจารย์ Hatanaka ได้ใช้เทคนิคดังกล่าวในการดูแลนักกีฬาระดับชาติของประเทศญี่ปุ่นและได้รับเกียรติให้ดูแลนักกีฬาของประเทศต่างๆในการแข่งขันระดับนานาชาติที่จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้ออีกด้วย