ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้คนไทยได้ใช้เป็นหลักการคิดและหลักปฏิบัติในการดำรงชีวิตเพื่อให้เกิดสมดุลในชีวิต ในครอบครัว ในโรงเรียน และในประเทศ ซึ่งหลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้น้อมนำพระราชดำรินี้ ไปประพฤติปฏิบัติเพื่อความเป็นอยู่ตามคุณลักษณะ 3 อย่าง นั่นคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี
ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังที่ดีมีประสิทธิภาพเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจแล้วนั้น หน่วยงานที่ควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในที่นี้มากที่สุด เห็นจะเป็นโรงเรียน ที่กล่าวเช่นนี้อาจเพราะเด็กที่เราเห็นในวันนี้ ย่อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า จากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แนวความคิดในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ย่อมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยหลักปรัชญานี้เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้สถานศึกษาปลูกฝังหลักการเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้องให้กับนักเรียน
ในปัจจุบันโรงเรียนได้มีการปลูกฝังแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน โดยการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้มีการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจัดในลักษณะบูรณาการ หรือทำโครงงานในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ สอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปด้วย ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากโรงเรียนมีความต้องการให้เด็ก ได้เรียนรู้ถึงหลักการดำรงชีวิตที่เป็นอยู่อย่างคุ้มค่า นั่นคือความพอประมาณความพอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ความมีเหตุผล หรือการตัดสินใจอย่างมีเหตุและมีผล อีกทั้งการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการเตรียมตัวให้พร้อม รับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เด็ก ๆ เหล่านั้นได้ก้าวออกจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว
โรงเรียนบ้านโนนจั่น ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสอดแทรกเป็นรูปแบบการเรียนการสอน
โดยนายสมชาย โตนาค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนจั่น กล่าวว่า แนวคิดริเริ่มในการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนนั้น เกิดจากได้เล็งเห็นจากสภาพแวดล้อมภายในชุมชนที่ผู้ปกครองนักเรียน มักประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง ส่งผลให้เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ภายในชุมชนย่อมยึดอาชีพตามผู้ปกครองเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่ยั่งยืนให้กับเด็ก ๆ ภายในชุมชนแล้ว น่าจะมีอาชีพที่ควรส่งเสริมให้เด็ก ได้เลือกและนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง เพื่อเกื้อหนุนครอบครัว จึงได้ทำการสำรวจและพิจารณาเห็นว่ายังมีอีกหนึ่งอาชีพซึ่งคนภายในชุมชนเองมีความรู้และเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี มองแล้วน่าส่งเสริมนั่นคือการเป่าแก้ว ซึ่งเกือบครึ่งของหมู่บ้าน ที่ประกอบอาชีพนี้เป็นหลัก และกลายมาเป็นกลุ่มหัตถกรรมเป่าแก้วบ้านโนนจั่น หากเด็กมีความสนใจในอาชีพนี้ นอกจากเด็กจะมีพื้นฐานในด้านการประกอบอาชีพอีก 1 ตัวเลือกแล้ว ยังส่งเสริมให้เด็กรู้จักรักครอบครัวทำให้ครอบครัวอบอุ่น ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปไหน เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เกิดภายในครอบครัวแต่เด็ก ๆ กลับไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเป่าแก้ว
นายสมชาย กล่าวต่อว่า การเป่าแก้วเป็นอาชีพอิสระ สามารถสร้างรายได้ให้กับทั้งในชุมชน และในครอบครัว ถึงแม้อาชีพนี้อาจจะไม่ทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้น แต่อย่างน้อยก็สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวโดยไม่ต้องเป็นหนี้ พอกิน พอใช้ หากรู้จักเก็บรู้จักออม ก็จะกลายเป็น เหลือเก็บ เหลือใช้ การเป็นอยู่อย่างพอเพียง คือการรู้จักความพอประมาณความพอดี ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปเด็ก ๆ ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนนี้ ควรจะมีพื้นฐานในการเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้าง จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ ในโครงการที่ชื่อว่า เป่าแก้วเลี้ยงชีวา พึ่งพาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากคนภายในชุมชนร่วมเป็นวิทยากร ในการให้ความรู้ การสอนโดยเน้นการปฏิบัติจริง เพื่อให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติเองได้ นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน การผลิตหัตถกรรมเป่าแก้ว จากการนำแท่งแก้วมาเป่าเป็นรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ต้องการ ให้มีความสวยงาม ซึ่งได้มีการพัฒนาเคลือบทอง ป้ายสี ให้ตัวผลิตภัณฑ์มีความสวยงามมากขึ้น โดยโครงการนี้จะเน้นสอนนักเรียนในช่วงชั้นที่ 3 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ในการคิดและตัดสินใจ ภายหลังที่จบจากที่นี่ไปแล้ว
ร่วมทั้งสอดรับกับ โครงการธนาคารโรงเรียนบ้านโนนจั่น ซึ่งก็เป็นอีกแนวความคิดที่ต้องการ ให้นักเรียนใช้เงินที่ได้มาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็คือต้องรู้จักการออม รู้จักใช้อย่างมีเหตุและมีผล อะไรควรซื้อ ไม่ควรซื้อ อะไรพอเหมาะพอดีกับแต่ละวัน เด็กต้องมีหลักคิดแนวความคิดของนักเรียนเรื่องการประหยัดอดออม และเพื่อสนองต่อแนวพระราชดำรัสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นจึงเกิดเป็น ธนาคารโรงเรียนขึ้น
ซึ่งโครงการนี้ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขากำแพงเพชร ที่ให้การสนับสนุน ส่งเสริมในการดำเนินโครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งจัดเป็นรูปแบบการบริหารงานโดยชุมชนมีส่วนร่วม ตามขั้นตอน PDCA โดยกิจกรรมภายในธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการฝาก การถอน ดูแลบัญชี ทางโรงเรียนได้ฝึกให้นักเรียนดำเนินงานตามระบบงานธนาคารประเภทบัญชีออมทรัพย์ และสามารถดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและเป็นอย่างดี โดยมีครูผู้รับผิดชอบโครงการให้ความสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง จนส่งผลให้โครงการนี้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นที่เป็น Best Practice สามารถแผ่ขยายความรู้สู่ชุมชนทั้ง 3 หมู่ และให้ความไว้วางใจในการออมเงินฝากไว้กับธนาคารโรงเรียนบ้านโนนจั่น อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้นายสมชาย กล่าวอีกว่า โรงเรียนฯพร้อมน้อมนำพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจในการดำรงอยู่อย่างถูกต้อง รู้จักกิน รู้จักอยู่ มีน้อยใช้ไปตามน้อย และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ หากเด็ก ๆสามารถพึ่งตนเองได้ ในอนาคตเมื่อเขาเหล่านั้นเติบโตขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด
สำหรับโรงเรียนบ้านโนนจั่น ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนที่ผ่านมาได้รับรางวัลพระราชทาน ปีพุทธศักราช 2546 โรงเรียนต้นแบบ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1 โดยเปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นโรงเรียนขนาดกลาง มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 383 คน ครู 20 คน เขตพื้นที่ให้บริการติดต่อกัน 3 หมู่ คือหมู่ 1 บ้านโนนจั่น หมู่ 3 บ้านหนองโดนเหนือ และ หมู่ 9 บ้านหนองโดนใต้
/////
ยอดเพชร ไพรเรืองกิจ รายงาน