ที่บริเวณด้านข้าง วิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต เมื่อครั้งเสด็จมายังเมืองพิษณุโลก และทรงปกครองและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาจนรุ่งเรืองสืบมาถึงปัจจุบัน เป็นคูณูปการอย่างมหาศาลต่อพสกนิกรชาวพิษณุโลก โดยจัดนิทรรศการให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้ชมระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2555-4 มิถุนายน 2555
นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ไทย ได้นำพระบรมราชานุสาวีย์องค์จำลอง ขนาดย่อส่วน พร้อมประวัติโดยย่อของแต่ละพระองค์ มาให้ประชาชนทั่วไปได้ศึกษา เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้แก่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง ผู้ทรงก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย มีพระนามเดิมว่า พ่อขุนบางกลางหาว ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองบางยาง ( อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ในปัจจุบัน ) ได้ร่วมกับพระสหายนามว่า พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด นำทัพไปตีเมืองศรีสัชนาลัย และ เมืองบางขลง หลังจากตีเมืองทั้งสองได้สำเร็จ พ่อขุนบางกลางหาว ได้ทรงยกเมืองทั้งสองให้พ่อขุนผาเมืองเป็นผู้ดูแล ส่วนพ่อขุนบางกลางหาวมาปกครองเมืองสุโขทัย เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัย
สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 ( พระยาลิไท ) เป็นโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์อาณาจักรสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.1891 – พ.ศ.1912 รวม 21 ปี ในด้านอักษรศาสตร์ ทรงนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง เป็นหนังสือสำคัญทางพระพุทธศาสนามากที่สุดเล่มหนึ่ง พ.ศ.1900 ทรงโปรดให้พล่อพระพุทธรูปที่สำคัญของไทยจำนวน 3 องค์ด้วยกัน คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ทรงเป็นผู้สร้างเมืองพิษณุโลก และเสด็จมาประทับที่เมืองพิษณุโลกเป็นเวลา 7 ปี
สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พระราชสมภพเมื่อพ.ศ.1974 เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เมื่อพระชนมายุ 7 พรรษา ได้รับโปรดเกล้ามาครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ โดยมาประทับที่เมืองพิษณุโลก เมื่อพระบิดาเสด็จสวรรคต ขึ้นครองราชย์เมื่อพ.ศ. 1991 เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 8 ของกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2006 ได้เสด็จมาเมืองพิษณุโลก ทรงสร้างวัดจุฬามณี และปีถัดมาได้เสด็จออกผนวช 8 เดือน 15 วัน พ.ศ.2025 ทรงบูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มีการเปลี่ยนรูปทรงพระบรมธาตุเจดีย์จากศิลปะสุโขทัย มาเป็นทรงปรางค์อยุธยา เมื่อเสร็จแล้วทรงให้มีการฉลิงสมโภช 15 วัน และทรงโปรดให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัญฑิต แต่งหนังสือมหาชาติคำหลวง นับว่าเป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาเรื่องแรงของกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้มีการเทศน์ครั้งแรก ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงเสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกตลอดรัชกาล รวม 25 ปี สวรรคตพ.ศ.2031 รวมศิริครองราชย์ 40 ปี ( ประทับที่กรุงศรีอยุธยา 15 ปี )
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ( พระศรีสรรเพชญ์ที่ 2 ) เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก พ.ศ.2098 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและ กับพระวิสุทธิกษัตรี มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ หรือ พระนเรศวร ทรงเป็นกษัตริย์นักรบที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างยิ่ง ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อพม่า พ.ศ.2114 ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เป็นระยะเวลา 19 ปี พ.ศ.2133 ทรงขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชนมายุ ได้ 35 พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวร หรือ พระศรีสรรเพชญ์ที่ 2 พ.ศ. 2148 ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง ทรงประชวร เป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์ กลายเป็นพิษ และเสด็จสวรรคต ณ ที่นั่น เมื่อพระชนมายุ ได้ 50 พรรษา รวมครองราชย์ 15 ปี
สมเด็จพระเอกาทศรถ หรือ พระศรีสรรเพชญ์ ที่ 3 เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและ กับพระวิสุทธิกษัตรี มีพระนามเดิมว่า พระองค์ขาว มีพระเชษฐาคือ พระองค์ดำ หรือ พระนเรศวร และ พระเชษฐภคินี คือ พระนางสุพรรณกัลยา พ.ศ.2135 เสด็จมากราบนมัสการพระพุทธชินราช ดำรัสสั่งให้เอาทองนพคุณ เครื่องราชูปโภค มาแผ่เป็นทองปะทาสีปิดทองพระพุทธชินราชจนเสร็จด้วยพระองค์เอง แล้วให้มีการฉลองสมโภช 7 วัน 7 คืน เสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ.2153 เมื่อพระชนม์พรรษาได้ 50 พรรษาเศษ รวมครองราชย์ได้ 5 ปี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชสมภพ พ.ศ.2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน ในพ.ศ.2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า พระยาตาก ได้กอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อพ.ศ.2311 ขณะมีพระชนมายุได้ 34 พรรษา ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 แต่ประชาชนทั่วไปขนานพระนามของพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต พ.ศ.2325 พระชนมายุ 48 พรรษา ทรงครองราชย์ 15 ปี ในปีพ.ศ.2313 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จขึ้นไปปราบเมืองฝาง ทรงแวะนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ได้เปลื้องผ้าทรงสะพักออกทรงพระพุทธชินราช และโปรมให้มีการสมโภชตามราชประเพณี
สมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. 2095 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและ กับพระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ พระองค์เป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ทรงเสียสละความสุขส่วนตัวไปเป็นองค์ประกันที่กรุงหงสาวดี เพื่อแลกกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ต่อมาได้สิ้นพระชนชีพในแผ่นดินพม่า ความเสียสละอันใหญ่หลวงของพระองค์ในครั้งนั้น เป็นผลให้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงมากอบกู้เอกราชของชาติไทยได้สำเร็จ
นอกจากพระราชประวัติโดยย่อของอดีตพระมหากษัตริย์ที่ทรงเคยเสด็จมาเมืองพิษณุโลกแล้ว นิทรรศการยังแสดงภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองสองแคว เป็นภาพถ่ายในอดีต ได้แก่ ภาพพระพุทธชินราช ที่ถ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพเรือนแพริมแม่น้ำน่านในอดีต และภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งเสด็จมาจังหวัดพิษณุโลก