เมื่อเวลา 10.30 น.ของวันที่ 17 พ.ค.2555 นายชูเกียรติ มุทธากาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการนำร่อง “The Thai-Japan collaborative pilot system for rural e-Health delelopment in Indochina region in honor of 84 th anniversary of King Bhumiboldulyadej Maharaja ”ด้วยการใช้กระบวนการตรวจวินิจฉัยครรภ์มารดาทางไกล ระบบ Perinatal Electronic Patient Record System Network (การประยุกต์ไอซีทีในบริการทางการแพทย์ผดุงครรภ์) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงานว่า เนื่องจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าว เพื่อเฉลิมพระเกียรติ84 พรรษามหาราชา พร้อมกับเป็นการลดช่องว่างการใช้สื่อดิจิตอลและสนับสนุนการใช้ประโยชน์จาก ICT มาปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท และเพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพโครงข่ายการให้บริการด้าน Broadband e-health application ในเขตอำเภอเมืองและชนบทสำหรับช่วยเหลือในการวินิจฉัยการผดุงครรภ์ในโรงพยาบาลที่ไม่มีแพทย์สาขาสูติ-นรีเวชกรรม โดยได้รับการจัดสรรทุนศึกษาวิจัยจากองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิค ภายใต้แผนงาน ICT Development Programme โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุน ในการศึกษาวิจัยการพัฒนาโครงข่าย Broadband ที่มีคุณภาพเหมาะสมในการให้บริการด้าน e-Health สอดรับกับนโยบาย Broadband แห่งชาติ
ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก ได้นำร่อง ที่โรงพยาบาลชาติตระการ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกลาง อำเภอวังทอง โรงพยาบาลพุทธชินราชพิษณุโลก ในการศึกษาวิจัย และ การพัฒนาโครงข่าย Broadband ด้าน e-health โดยการใช้กระบวนการตรวจวินิจฉัยครรภ์มารดาทางไกล ด้วยระบบ Perinatal Electronic Patient Record System Network นี้ จึงได้เกิดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ประยุกต์ใช้ไอซีทีในการบริการทางการแพทย์ผดุงครรภ์ และเพิ่มความร่วมมือด้าน e-health ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการให้บริการด้านสุขภาพสู่ประชาชนคนไทยทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในชนบทที่ขาดแคลนแพทย์ในสาขาวิชาเฉพาะให้สามารถเข้าถึง การบริการตรวจรักษาและสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วยควบคู่กับการปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญ
////////