โดย………..คมดงเสือ
ทั่วทุกภาคของประเทศไทยเรา จะเห็นได้ว่าทุกหมู่บ้าน ทุกแห่งหนตำบลใด ชาวบ้านก็นำไม้ไผ่ มาจักสานเป็นอุปกรณ์และหรือเครื่องมือ เครื่องใช้ ได้โดยไม่ต้องไปซื้อหาที่ไหน ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเรา มีกอไผ่ หรือ ไม้ไผ่ จำนวนไม่น้อย ทำให้คนไทยตั้งแต่อดีตที่ผ่านมารู้จักนำสิ่งเหล่านี้มาทำให้เกิดประโยชน์และปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ตามภูมิปัญญาของแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็นกระบุง ตะกร้า กะด้ง ตะแกรง เป็นต้น สิ่งเหล้านี้แต่ท้องที่จะมีความประณีตแตกต่างกันไป
เช่นเดียวกับที่บ้านนา บ้านเรา ที่ได้มีการนำเอาไม้ไผ่ ที่เราปลูกไว้ไม่รู้กี่ปี มาทำเป็นเครื่องจักสานต่างๆ เช่นกัน.. บ้านผมได้ปลูกกอไผ่ตง ไว้ริมรั้วบ้าน มาสมัยที่ผมยังเด็กเล็กอยู่จนโต ก็ประมาณ 30 กว่าปีแล้ว กอไผ่ได้ใหญ่โตและขยายจนกอใหญ่ จนครอบครัวเราต้องไปตัดบ่อยๆ เพื่อป้องกันลุกลามไปที่ดินของเพื่อนบ้าน และกอไผ่ ที่เราไปตัดมานั้น ก็นำไปจักสาน เป็นตะกร้า เป็นสุ่มไก่ เป็นที่นอนของไก่ แต่ละชิ้นงานเรียกว่าคงทน ใช้งานได้ 3-5 ปีทีเดียว
สมัยเด็กๆ ผมได้เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการจักสาน จากคุณยายประทุม อ่ำพิน และคุณย่าพวง อนุดิษฐ ซึ่งท่านทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้วหลายปี ซึ่งแต่ก่อนยามว่างจากทำนา คุณยายประทุม จะนิยมนำไม้ไผ่มาสานตะกร้า กระด้ง และตะแกรง ท่านก็จะสอนให้รู้เกี่ยวกับการนำตอก มาขึ้นต้น ของการสานกะบุง ตะกร้า ตะค้องใส่ปลา ซึ่งในการจักสานไม้ไผ่นั้นสิ่งแรกคือ นิ้วเราต้องแข็งแรงนิดหน่อย ไม่อย่างนั้นจะเจ็บมาก ที่จะจับเส้นตอกให้เข้ากับรูปทรงที่เราสาน ผมก็เช่นกันนิ้วเด็กๆ สานอะไรก็ไม่ได้มาก เรียนรู้แค่พอได้ ก็พอ อย่าให้เก่งเลย เจ็บนิ้วมากครับ ส่วนคุณย่าพวง ท่านจะสอนผมสานพัด และตะกร้า ที่สุภาพสตรีใส่สิ่งของไปทำบุญ หรือไปจ่ายตลาดนั่นแหละครับ ผมได้แค่การสานพัดจากคุณย่าแค่นั้นก็พอ …ผมคิดว่าการสานตะกร้าใส่สิ่งของนั้น มันเป็นศาสตร์ชั้นสูง ต้องใช้ฝีมือที่ละเอียดละออเป็นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าเป็นเรียนรู้ที่ดีของเด็กทั่วไป ที่วันหนึ่งอาจนำมาใช้ได้
และเมื่อแม่ผมได้ตัดไม้ไผ่ครานี้ ทำให้เวลาว่างที่ผมกลับบ้านนา บ้านเรา ก็ได้มีโอกาสไปทดสอบฝีมืออีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นเปลนอนครับ สมัยก่อนผมทำได้เหมือนกัน มันเป็นเปลเล็กไม่กว้าง เหมือนที่เขาขายกันตามริมถนนสายต่างๆนั่นแหละครับ แต่ก็พอใช้ได้… น้องสาวผมบอกว่าให้ทำให้หน่อยเอาไว้นอนเล่นตามใต้ถุนบ้าน ซึ่งได้เราก็ร้อนวิชานิดหน่อย ก็ทำให้น้องโดยไม่รังเร โดยมีแม่อ่ำ ท่านจะเหลาหรือจักตอกให้ จากนั้นก็ยืนให้กำลังใจอยู่ข้างๆ คิดในใจว่า “ ลูกชายจะทำได้ไหมหนอ”.…. เวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง ผมก็ขึ้นโครงเปลไม้ไผ่ได้ แล้วก็สานเปลพอได้ แต่เหมือนเดิมครับ ผมฝึกมาอย่างไร ก็ได้ตามที่ฝึก ผมได้เปลเด็กอีกแล้ว ผมทำเปลไม้ไผ่ขนาดเล็ก ซึ่งเวลาดึงโครงสร้างไม่กว้าง ทำให้เวลาสานเปลมันยึดให้แคบลง อีกอย่างหนึ่งไม้ไผ่ที่นำมาสานมันยังสด ไม่แข็งแรงเท่าไร ส่งผลให้กลายเป็นเปลเด็กอย่างที่ผมบอกแหละครับ…..ฮึม! เข้าทางผมครับ ผมมีหลานหลายคน และหลานก็ยังไม่มีเปลนอนเล่นเลย ..ดีนะที่มีทางออกเสมอสำหรับผม
จากผลงานอันชั้นเยี่ยมของผม ทำให้คนที่บ้านนา บ้านเรา ได้รู้ว่า เราก็ทำได้หากมีความตั้งใจจริง แต่จะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับฝีมือครับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องฝึกฝนเป็นประจำ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาจนกลายเป็นผลงานที่มีคุณภาพเหมือนงานที่เราทำนั่นแหละครับ.
/////////////