วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดร่วมใจ ตลาดเทศบาล 6 เทศบาลนครพิษณุโลก มีชาวบ้านจากต่างอำเภอได้จับอึ่งโกก และกบนา มาวางขายให้กับประชาชนทั่วไปผู้นิยมบริโภคอาหารจากทุ่งนา โดยตั้งราคาขายทั้งสองชนิดกิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง เมื่อเทียบกับกบที่เลี้ยงจากฟาร์ม ที่ขายในราคากิโลกรัมละ 120 บาท ด้วยผู้บริโภคนิยมในรสชาติของอึ่งโกกและกบนา ที่จับมาจากท้องนาธรรมชาติ ว่ารสชาติดีกว่ากบฟาร์ม ไม่มีกลิ่นสาบมากเหมือนกบที่เพาะเลี้ยงในฟาร์ม
แม่ค้าที่จำหน่ายอึ่งโกก เปิดเผยว่า มีชาวบ้านจากอำเภอต่าง ๆ ออกจับอึ่งโกกและกบนาในช่วงกลางคืน และนำมาส่งให้แม่ค้าตลาดร่วมใจวางขายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ช่วงนี้เริ่มจับได้ในปริมาณมาก เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝน พิษณุโลกมีฝนตกชุกสองสามวันที่ผ่านมา ทำให้อึ่งโกกออกมาจากที่ซ่อน จึงจับได้ในปริมาณมาก ผู้ซื้อนิยมนำไปประกอบอาหารหลากหลาย ทั้งแกง ผัดเผ็ด ต้มยำ
อึ่งโกก มีชื่อเรียกหลายชนิดตามแต่พื้นที่ อาทิ อึ่งเผ้า, อึ่งดำ, อึ่งปากขวด, อึ่งโกก, อึ่งกระโดน กระจายพันธ์ทั่วประเทศไทย ลักษณะ มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ ลำตัวป้อม ปากเล็ก ขาสั้น ความยาวประมาณ 75 มม. ผิวหนังลำตัวเป็นรอยล่น ชอบขุดโพรงอยู่ตามพื้นล่างของป่าหรืออ่างเก็บน้ำ พื้นดินที่มีความร่วนซุย โดยเฉพาะฤดูแล้งจะอาศัยในโพรงดินตลอดเวลา แต่ระหว่างฤดูฝนจะขึ้นมาหากินบนพื้นดินในเลากลางคืน ผสมพันธ์และวางไข่ในคืนที่ฝนตกหนักมากในช่วงแรกของฤดูฝน สถานภาพ ไม่ได้เป็นสัตว์ป่าตามพรบ.คุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นชนิดที่ถูกชาวบ้านจับบริโภคและเพื่อขายจำนวนมากในแต่ละปี