ใกล้เป็นจริงรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก

รถไฟพิษณุโลกมีกว่า 100 ปีแล้ว รัฐบาลเตรียมคลอดรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก

รายงานจากเว็ปไซต์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 23 เมษายน 2555 ระบุว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยกับ ประชาชาติธุรกิจ ว่า ขณะนี้ทางฝ่ายการเมืองได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารของกระทรวงคมนาคมปรับแผนการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4 สายทาง ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่อีกรอบ โดยให้ปรับระยะทางการก่อสร้างให้สั้นลง เพื่อให้สามารถผลักดันโครงการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ให้มีผลงานเกิดเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น และให้เป็นจริงมากที่สุดภายใน 4-5 ปีนี้ ตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ

โดยทั้ง 4 สายทางที่ทบทวนใหม่มีระยะทางรวมเหลือ 996 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 359,006 ล้านบาท ปรับลดจากแผนงานเดิมที่มีระยะทางรวม 1,447 กิโลเมตร เงินลงทุน 481,066 ล้านบาท โดยจะมีเพียง 2 สายทางที่ปรับลดระยะทางและเงินลงทุนลงคือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหลือแค่กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และสายกรุงเทพฯ-ระยอง ปรับลดเหลือกรุงเทพฯ-พัทยา

นายกยิ่งลักษณ์เยี่ยมชมการเดินรถไฟชินคันเซ็นประเทศญี่ปุ่น

 

นายกฯดูงานรถไฟความเร็วสูงญี่ปุ่น

รายละเอียดแผนและเส้นทาง 4 สายทาง มีดังนี้ 1) สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 328 กิโลเมตร เงินลงทุน 121,014 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิม 745 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 229,809 ล้านบาท 2) สายกรุงเทพฯ-พัทยา ระยะทาง 187 กิโลเมตร เงินลงทุน 59,000 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิมเป็นสายกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งระยะทางรวม 221 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 72,265 ล้านบาท

อีก 2 สายทางที่เหลือจะใช้แผนระยะทางและเงินลงทุนเท่าเดิมคือ 3) สายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 256 กิโลเมตร เงินลงทุน 96,826 ล้านบาท และ 4) สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร เงินลงทุน 82,166 ล้านบาท

“ที่ต้องปรับสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ให้สั้นลง เพราะแนวเส้นทางส่วนใหญ่จะพาดผ่านภูเขา ทำให้การก่อสร้างอาจจะค่อนข้างยากเพราะจะต้องเจาะภูเขา ขณะที่สายกรุงเทพฯ-ระยองสร้างแค่พัทยา เพราะดูแล้วจะคุ้มค่ากว่าเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวและอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งเส้นทางนี้จะใช้วิธีต่อขยายจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ไป”

 

 

เส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะที่1

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ทั้งนี้จาก 4 สายทาง นโยบายของฝ่ายการเมืองให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการก่อสร้างสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลกก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากสายนี้ทางประเทศจีนมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนทั้งก่อสร้างและขายระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งมีประเทศญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจจะเข้าลงทุนด้วยเช่นกัน

“หลังจากที่นายกฯ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) กลับจากประเทศจีน แผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งเรื่องการลงทุน แผนโครงการที่ชัดเจนขึ้น หลังจากเมื่อปลายปีที่แล้วทั้ง 2 รัฐบาลได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือร่วมกัน เพื่อผลักดันให้โครงการสามารถแจ้งเกิดได้เร็วที่สุด”

สำหรับความคืบหน้าของโครงการปัจจุบัน ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของโครงการให้แล้วเสร็จในปี 2555 และมีแผนจะเปิดประมูลและก่อสร้างตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561

“ฝ่ายการเมืองพยายามเร่งรัดโครงการมาก ตอนแรกอยากจะให้เสร็จใน 3 ปี เท่ากับเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ แต่ความเป็นไปได้นั้นยาก เพราะการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรกของประเทศไทยและใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แม้แต่ล่าสุดขณะนี้รูปแบบการลงทุนก็ยังไม่สรุปว่าจะเป็นรูปแบบไหน ทางรัฐบาลให้กระทรวงการคลังไปศึกษารวมถึงแหล่งเงินที่จะนำมาลงทุนด้วย”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงคมนาคมได้ศึกษารูปแบบการลงทุนเบื้องต้นไว้บ้างแล้ว โดยจะให้การรถไฟฯตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ โดยจะใช้ชื่อว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูงแห่งประเทศไทย จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบโครงการ

ทั้งนี้ คาดว่าตามขั้นตอน สนข.จะต้องนำเสนอให้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอตามขั้นตอนขึ้นไปสู่วาระที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตัดสินใจได้ในเร็ว ๆ นี้

ชุมทางสถานีรถไฟพิษณุโลกมีมากว่า 100 ปีแล้ว รถไฟความเร็วสูงเป็นความฝันที่ใกล้เป็นจริง

แสดงความคิดเห็น