ประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวก็โชคดีไปอย่าง ได้เดินทาง ได้พบเห็นผู้คน เหตุการณ์ สถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดพิษณุโลกแทบทุกตำบล ทุกอำเภอ และเกิดมาเป็นคนสัญชาติพิษณุโลกก็โชคดีอักโข เป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ สร้างสมดุลย์ให้ความเป็นอยู่ของชาวพิษณุโลกอยู่ดีกินดีจากอดีตถึงปัจจุบัน
จังหวัดพิษณุโลกมีแม่น้ำหลักสองสายไหลผ่าน แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยม และยังมีลำน้ำสาขาลุ่มน้ำน่าน อย่างแม่น้ำแควน้อย ลำน้ำภาค แม่น้ำวังทอง หรือแม่น้ำเข็ก และคลองชมพู เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงอู่ข้าวอู่น้ำปีปีหนึ่งปลูกข้าวได้ถึง 1 ล้านไร่ น้ำท่าเหล่านี้ มาจากป่าต้นน้ำในเทือกเขาโซนทิศตะวันออกของจังหวัดแถบอำเภอนครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์ วังทอง และเนินมะปราง
รอบสองสามปีที่ผ่านมา มีโอกาสเดินทางไปทำเพื่อนพ้องน้องพี่นักข่าว ออกตระเวนทำข่าวการลักลอบตัดไม้ ลักลอบแผ้วทางป่าสงวน ในเขตป่าต้นน้ำบ่อยครั้ง พบภาพการตัดไม้ในจุดที่เป็นป่าต้นน้ำอยู่เป็นประจำ ทั้งในเขตอำเภอวัดโบสถ์ นครไทย ชาติตระการ ป่าต้นน้ำเหล่านี้ จะค่อย ๆ คลายน้ำออกมาจากรากต้นไม้ครับ ต้นละเล็กละน้อย มารวมกันเป็นลำคลอง แอ่งน้ำสายเล็ก ๆ แล้วไหลมารวมกันเป็นลำน้ำสายใหญ่ อย่างแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำวังทอง สู่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่อ่าวไทย
น้ำท่วมรุนแรง ภัยแล้งสาหัส ก็มานึกถึงกันที ปีนี้เช่นกัน ตั้งแต่ต้นปี 2555 รัฐบาลก็มีแผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำในทุกจังหวัดของภาคเหนือ ทั้งการปลูกป่า การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า ทำฝายชะลอน้ำ
ประสบการณ์งานข่าวในชีวิตที่ผ่านมาในความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองว่า ป่าเสื่อมโทรมที่ถูกทำลาย ไม่จำเป็นต้องปลูกก็ได้ครับ เพียงแต่รักษาพื้นที่ตรงนั้นไว้ ไม่ให้ใครมาบุกรุกต่อ ป่าจะฟื้นตัวของมันเอง แต่การส่งเสริมการปลูกป่าก็มีส่วนดีมากอยู่ ทำให้ป่าฟื้นสภาพเร็วขึ้น และดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน ของคนในจังหวัด ที่ถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่มั่นใจชาวพิษณุโลกที่ได้รับผลกระโยชน์จากป่าต้นน้ำ ว่ามีมุมมองเรื่องทรัพยากรป่าไม้อย่างไร หรือยังเหมือนเดิม ๆ ป่าของหลวง หลวงก็ดูแลเอาเอง
ปริมาณน้ำในเขื่อนแควน้อยเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ว่าป่าต้นน้ำ เป็นต้นทุนที่ชาวพิษณุโลกต้องช่วยกันปกป้องรักษาเอาไว้ วันนี้ 29 มีนาคม 2555 เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 276.54 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล.ลบ.ม.)จากความจุเขื่อน 939 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 29.45 %ของความจุเขื่อน โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างอยู่