บ่อบาดาล…..สู้ภัยแล้ง

ขณะนี้ที่จังหวัดพิษณุโลกได้ประกาศเขตภัยพิบัติแล้งครบทั้ง 9 อำเภอแล้ว ขณะที่ชาวนาในหลายอำเภอของจังหวัดพิษณุโลกยังคงเร่งทำนาปรังรอบที่สองต่อเนื่องทันที  และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ คูคลองเริ่มตื้นเขิน แต่ชาวนาพิษณุโลกที่อยู่นอกเขตชลประทานเหล่านี้ ก็ยังสามารถทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งได้ โดยมีบ่อน้ำบาดาลในที่นาของตนเอง เป็นแหล่งน้ำหลักเพื่อทำนาตั้งแต่ช่วงมีนาคม-เมษายนนี้ โดยพาะแถบอำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอเมือง จะพบเห็นชาวนากำลังเร่งไถนาและดึงน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาใช้

 

นางน้ำวุ้น  บุญแท้  ชาวนา ม.7 ต.ท่าตาล อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า ปกติแล้วชาวนาในเขตอ.บางกระทุ่มจะทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง ปี 2554 ที่ผ่านมา น้ำได้ท่วมข้าวนาปรังรอบที่สองเสียหายอย่างหนัก หลังจากที่ปลูกและเกี่ยวข้าวนาปรังรอบแรกเสร็จแล้ว ในช่วงนี้ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม-เมษายน จึงเร่งลงมือปรับพื้นที่ทำนาปรังรอบสองต่อทันที และขณะนี้แหล่งน้ำจากคลองธรรมชาติเริ่มแห้งขอด และที่นาตนก็อยู่นอกเขตชลประทาน จึงต้องพึ่งบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ในการทำนา ปกติแล้ว พื้นที่นาตน 60 ไร่ จะใช้น้ำมันในการดึงน้ำจากบ่อบาดาลขึ้นมาทำนา 7-8 ถัง ค่าต้นทุนน้ำมันดีเซล 1 ถึง 200 ลิตร อยู่ที่ 6,000 กว่าบาท ส่วนใหญ่แล้วชาวนาก็จะใช้วิธีขอเครดิตน้ำมันจากนายทุนมาก่อน เสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 หน้าแล้งปีนี้น้ำค่อนข้างดีหน่อย เพราะปีก่อนน้ำท่วม ส่งผลให้น้ำในบ่อบาดาลมีมากขึ้นด้วย และถ้ามีฝนตกมาช่วย ก็จะช่วยลดภาระค่าน้ำมันลงได้

 

ชาวนาในเขตต.แม่ระกา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก รายหนึ่งกล่าวว่า จำเป็นต้องใช้บ่อบาดาลในการสูบน้ำขึ้นมาทำนา เนื่องจากระบบชลประทานไม่ครอบคลุมถึง และจะเห็นว่า ชาวนาส่วนใหญ่ต่างก็เตรียมบ่อบาดาลไว้ในที่นาของตนเองอยู่แล้ว ตนทำนา 30 ไร่ คาดว่าจะใช้น้ำมันประมาณ 4 ถัง

ข้อมูลจากฝ่ายจัดการทรัพยากรน้ำบาดาล สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลกระบุว่า ระดับความลึกของบ่อน้ำบาดาลในจังหวัดพิษณุโลกมีความลึกอยู่ที่ระดับ 40-100 เมตร การขุดเจาะต้องใช้เงินทุนสูงไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อหนึ่งบ่อ และปัจจุบัน มีผู้แจ้งการใช้บ่อน้ำบาดาล ทั้งเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภคจำนวน 400 บ่อ สำหรับบ่อน้ำบาดาลที่เห็นเกษตรกร สูบน้ำมาใช้ในนาข้าวในหลายอำเภอเภอนั้น จัดอยู่ในประเภทบ่อน้ำผิวดิน หรือบ่อบาดาลน้ำตื้น มีความลึกอยู่ที่ประมาณ 15 เมตร ปริมาณของบ่อน้ำตื้นยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน เป็นบ่อน้ำที่ไม่ต้องแจ้งหน่วยงานราชการ และไม่เสียค่าใช้น้ำ

 

ทั้งนี้ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จังหวัดพิษณุโลกมีเหตุการณ์เศร้าสลดชาวนาลงไปติดตั้งปั้มน้ำในบ่อบาดาลแล้วขาดอากาศหายใจหลายครั้ง ในทุกอำเภอนอกเขตชลประทาน สำหรับฤดูแล้งปี 2555 ยังไม่มีเหตุเศร้าเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณน้ำที่มากในปี 2554 ส่งผลให้น้ำในบ่อบาดาลมีมากขึ้นและสามารถสูบขึ้นมาใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างไม่ขาดสาย  ถือเป็นบ่อบาดาลที่สู้วิกฤติภัยแล้งได้เป็นอย่างดี

 

แสดงความคิดเห็น