กว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวรในวันนี้ ต้องผ่านเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ มากมาย อันเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้ก่อเกิดเรื่องราวในปัจจุบันและอนาคต… สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า ๔๔ ปี : ประชาคมมหาวิทยาลัยนเรศวร” ขึ้น เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ นับตั้งแต่ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งทุกข้อมูล ทุกคำบอกเล่า จักเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้งหอประวัติมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นสมบัติล้ำค่าของมหาวิทยาลัยต่อไป
การเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วยวิทยากรซึ่งเป็นอาจารย์ในยุคก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษา ได้แก่
รองศาสตราจารย์สมคิด ศรีสิงห์, รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ สายแสง และผู้ช่วยศาสตราจารย์คณาวุฒิ ศรีประเสริฐ ร่วมด้วยศิษย์เก่าและอาจารย์ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์ ดร.รสริน ว่องวิไลรัตน์ และรองศาสตราจารย์วนิดา บำรุงไทย ผู้ดำเนินรายการ
อาจารย์ยุคบุกเบิก ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาคติชนวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
…เรามีปัจจุบันสั้นที่สุด เรามีอนาคตยาว และมีอดีตยาวรองลงมา…
…ย้อนกลับไปปีพ.ศ.๒๕๐๘ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู ทั้ง ๒ ท่านมีความคิดจะขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ผลิตครูออกต่างจังหวัด จากกรุงเทพฯ ยกเว้นบางแสน มีการสำรวจดูศักยภาพจากสถาบันที่เป็นฝึกหัดครูอยู่ ก็มีวิทยาลัยครูมหาสารคาม วิทยาลัยครูสงขลา และวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม พิษณุโลก ในที่สุดทั้ง ๒ ท่านเลือกให้มาที่พิษณุโลก มีการสถาปนาวิทยาลัยวิฃาการศึกษาเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ตรงกับการกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
…ปี ๒๕๑๐ จึงเปิดวิทยาลัยวิชาการศึกษารุ่น ๑ ขึ้น โดยฝากเรียนที่ปทุมวันกับบางแสน ปีต่อมา 2511 เปิดสอนที่พิษณุโลก อ.วนิดาเป็นศิษย์รุ่นนี้ โดยมีปรัชญาของวิทยาลัยคือ การศึกษาคือความเจริญงอกงาม มีตราของมหาวิทยาลัยเป็นรูปกราฟ นั่นคือ ความเจริญไม่มีวันหมดไป…
…ในการเปิดรับรุ่นที่ ๒ ซึ่งควรจะถือว่าเป็นรุ่นแรกด้วยซ้ำ แยกเป็น ๒ วิชาเอก คือวิชาเอกคณิตศาสตร์ประมาณ ๘๓ คน กับวิชาเอกภาษาไทย ๔๘ คน รับโดยการคัดนักศึกษาที่เก่งที่สุดในประเทศจากวิทยาลัยครูต่าง ๆ จากวิทยาลัยครูยะลาถึงวิทยาลัยครูเชียงใหม่ จากวิทยาลัยครูอุบลราชธานีถึงวิทยาลัยครูเพชรบุรี โดยวิชาเอกภาษาไทยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศที่เคยมีมาและเก่งมากด้วย…
…นิสิตรุ่นนี้เมื่อถึงตอนเย็น เลิกเรียน ๓ โมงเย็น พอ ๓ โมงครึ่งก็ต้องลงมาทำงาน ไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์ เสาร์-อาทิตย์ทำทั้งวัน ต้องทำถนน ขุดท่อน้ำ คลองน้ำทั้งหมด…
…ตอนทำพิธีมหาพุทธาภิเษกพระพุทธชินราช และพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้งแรก ไปทำที่วัดใหญ่ เสร็จแล้วมาต่อที่นี่ ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ตอนประกอบพิธีนั้นจะเริ่ม ๑๙.๐๙ น. มีเกจิใหญ่ ๆ จากภาคเหนือ พอถึงเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. เกิดพายุหนักมาก เต็นท์พิธีโยกไปมา ต้องช่วยกันดันไว้ ฟ้ามืดมาจากจังหวัดพิจิตร มีฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้างบริเวณสถานีวิทยุ ทุกคนคิดว่าพิธีเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน จนถึงเวลาประมาณเกือบหนึ่งทุ่ม ฟ้าตรงนั้นแยกเป็น ๒ ส่วน ฟ้าสีดำแยกออกเป็น ๒ ด้าน ส่วนบริเวณมหาวิทยาลัยนเรศวรฟ้าปกติ ฝนหยุด พอประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกเสร็จ ฝนลงมาใหม่ เทลงมาเหมือนฟ้ารั่ว นับเป็นเรื่องแปลกประหลาด สิ่งเหล่านี้นับเป็นความเชื่อมโยงกันระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหนือธรรมชาติ…
ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณาวุฒิ ศรีประเสริฐ อาจารย์ยุคบุกเบิก เริ่มสอนวิชาภูมิศาสตร์ในปีพ.ศ.๒๕๑๓
…อยากพูดถึงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย อาคารรุ่นแรก ๆ อาคารสำนักงานอธิการบดี กลุ่มอาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งคณะเภสัชศาสตร์ รูปทรงอาคารหลังคาหน้าจั่ว มาจากเอกลักษณ์สำคัญของเมืองพิษณุโลก ซึ่งทราบกันดีว่ามีอยู่ ๒ ประการ หลวงพ่อพระพุทธชินราชและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อาคารเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์เมืองพิษณุโลก คือ หลวงพ่อพระพุทธชินราช อาคารสำนักงานอธิการบดีหรืออาคารมิ่งขวัญหลังกลางมีลักษณะเหมือนวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช ในขณะที่อาคารที่อยู่ซ้ายขวาล้อมรอบมีลักษณะเหมือนวิหารคดที่อยู่รายรอบวิหาร จะสังเกตได้ว่าวิหารหลวงพ่อไม่สูง ดังนั้นอาคารมิ่งขวัญจึงสูงแค่ ๒ ชั้น…
รองศาสตราจารย์สมคิด ศรีสิงห์ อาจารย์ยุคบุกเบิก เริ่มสอนวิชาประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ.๒๕๑๔
…วิทยาลัยวิชาการศึกษามีอะไรดี ก็จะเป็นที่รู้กันอยู่ว่ามี ๓-๔ ประการ ประการแรก ภาษาไทยเก่ง ไม่เก่งได้อย่างไร เพราะคัดมาจากที่ ๑ ที่ ๒ ของวิทยาลัยครูทุกจังหวัด ประการที่ ๒ ได้แก่ คณิตศาสตร์ เป็นหลักสูตรแรกที่เราเปิดพร้อมกับภาษาไทย คนมาจากจังหวัดอื่นมาเรียนที่นี่ งงว่าทำไมเด็กพิษณุโลกจึงเก่งคณิตศาสตร์ ต่อมารุ่นหลังมีประวัติศาสตร์ที่เก่ง อาจารย์เก่ง ลูกศิษย์ก็โด่งดัง จบดร. จบมาเป็นหัวหน้างาน รับราชการ มีหน้าที่การงานที่ดี
…เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นอกจาก ๓ เอก เราก็มีวิทยาศาสตร์ คือ ชีวะ ดังเทียบเท่าวิทยาเขตประสานมิตร ซึ่งตอนนั้นเรียกได้ว่าดังที่สุดเรื่องชีวะ ผลผลิตคือ รศ.ดร.รสริน ว่องวิไลรัตน์ ต่อมาก็มีฟิสิกส์ที่โด่งดัง…
…ตอนที่จะขอนามมหาวิทยาลัย มีการเสนอชื่อพระบรมไตรโลกนารถ และนเรศวรอีกนามหนึ่ง นามที่ ๓ คือ มหาวิทยาลัยพิษณุโลก ในที่สุดเบื้องบนก็เลือกนามนเรศวร จริง ๆ ถ้าจะให้เต็มยศต้องใช้ว่านเรศวรมหาราชด้วย…
รองศาสตราจารย์ ดร.รสริน ว่องวิไลรัตน์ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร
…ณ จุดนี้ อาจารย์รสรินเห็นความเชื่อมโยงว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรก้าวต่อไปโดยไม่ได้ทิ้งจุดปรัชญาเดิมของวศ.และมศว. ปรัชญาเดิมก็คือ การศึกษาคือความเจริญงอกงาม ซึ่งในสมัยวศ.และมศว.นั้น เราคัดคนเก่ง อาจารย์เก่งเข้ามาเรียน ณ ปัจจุบัน ท่านอธิการบดี คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ก็สร้างมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวิสัยทัศน์คือ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม มีปรัชญาคือ สร้างบัณฑิตให้เป็นไทจากอวิชชา อวิชชาคือความไม่รู้ ดังนั้นท่านจะคัดคนเก่งเข้ามา นับเป็นส่วนที่ต่อเนื่อง นำมหาวิทยาลัยให้ก้าวเข้าไปสู่การแข่งขันในระดับสากลต่อไป เพื่อให้มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นมหาวิทยาลัยแห่งปวงชน…
รองศาสตราจารย์ วนิดา บำรุงไทย ศิษย์เก่ารุ่นที่ ๒ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
…เรามาจากรั้วลวดหนามโย้ ๆ เย้ ๆ แต่ทำไมลูกศิษย์รุ่นเก่าจึงพร้อมที่จะประกาศความเป็นศิษย์เก่าวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ยังเป็นความรู้สึกที่แนบแน่น…
…แม้ว่าเราจะเป็นวศ.เล็ก ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระเจ้าลูกเธอเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร ตอนนั้นหอประชุมของเราเป็นแบบเปิดโล่ง อันที่จริงเป็นโรงอาหาร จะมีเฉพาะที่ประทับของพระองค์ท่านเท่านั้นจะได้รับความอนุเคราะห์จากห้างร้านนำแอร์มาตั้งให้ส่วนพระองค์ ซึ่งไม่ได้สะดวกสบายอะไร ด้วยความเมตตาพสกนิกรยิ่งใหญ่มาก ท่านไม่ได้มาพระองค์เดียวหรือสองพระองค์ พระเจ้าลูกเธอถ้าว่างจะตามเสด็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีก็ตามมา เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยของเราได้รับเกียรติที่ยิ่งใหญ่ตลอด เราจะต้องสำนึกรักในเกียรติอันยิ่งใหญ่ของเรา…
…ที่เราเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาแล้วพยายามวิ่งเต้นต่อสู้เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นั้น ศาสตราจารย์กุหลาบ มัลลิกะมาส (ได้รับการโกรดเกล้าฯ เป็นคุณหญิงในภายหลัง) เล่าให้ฟังว่า เรามีศักดิ์ศรีเท่ากับมหาวิทยาลัยทุกประการ คือประสาทปริญญาตรี เหตุที่เราต้องมีการยกฐานะ เนื่องมาจากตอนที่เราไปแข่งกีฬามหาวิทยาลัยนั้น บรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ให้เราเข้าร่วมแข่งขัน บอกว่าเราไม่ใช่มหาวิทยาลัย เพราะขึ้นต้นว่าวิทยาลัย จะมาแข่งกับเขาได้อย่างไร เราจึงต้องเปลี่ยนจากวศ.เป็นมศว….
…ความมีน้ำใจของเด็กบ้านนอกและยากจน เนื่องจากว่าการจัดสร้างห้องสมุดนั้นมีงบประมาณน้อย จึงได้หนังสือส่วนตัวของศาสตราจารย์ ดร.พนัส หันนาคินทร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดในเวลานั้น รวมกับหนังสือของอาจารย์ทั้งหลายอีกส่วนหนึ่งก็ ๔๐๐ กว่าเล่ม ซึ่งต้องมีการจัดทำหมายเลขเรียกหนังสือ จำได้ว่าพอว่างจากภารกิจ รับประทานอาหารเย็นเรียบร้อย เราก็มาช่วยกันแปะสันหนังสือ ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีช่วยเหมือนสมัยนี้ ทำมือเองหมดทุกอย่าง ไปทำโดยไม่มีค่าจ้าง ไปทำเพราะมีความรู้สึกว่าเป็นบ้านของเรา ที่เรียนของเรา เราจะเติบโตโดยปราศจากห้องสมุดที่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็มาลงแรง…
…ชีวิตหอพักสอนให้เราไม่หยิบโหย่ง ต้องหนักเอาเบาสู้ ทำงานเพื่อส่วนรวม เรารู้สึกว่านี่คือเรื่องของเรา เรื่องของมหาวิทยาลัย นี่เป็นกุศลที่ส่งให้เราประสบความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน…
…ในฐานะผู้อภิปรายอยากจะสรุปว่า เรามีอดีตที่น่าภาคภูมิใจ เราต้องภาคภูมิใจ เรายิ่งใหญ่ไม่ด้อยไปกว่ามหาวิทยาลัยใดในประเทศนี้ และเราก็พัฒนามาอย่างมั่นคง และก้าวแบบก้าวกระโดดอย่างที่ใคร ๆ ก็นึกไม่ถึง ด้วยฝีมือความสามารถของท่านอธิการบดี ณ ปัจจุบัน เราต้องยอมรับว่า ภายในไม่กี่ปีมหาวิทยาลัยโตวันโตคืน และด้วยพระบารมีแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระพุทธบารมีแห่งหลวงพ่อพระพุทธชินราช นิสิตปัจจุบันมีหน้าที่อะไร นิสิตคือความหวัง คือพลังที่จะช่วยกันสร้างมหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นไป ไม่ใช่กินบุญเก่า ไม่ใช่อาศัยชื่อเสียงเดิม ๆ แต่เราต้องสร้างขึ้นใหม่ ให้ก้าวหน้าขึ้นไป ให้เข้มแข็งยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี่คือพันธกรณีของนิสิตทุกคน และเป็นหน้าที่ของครูบาอาจารย์ ณ ปัจจุบัน ที่เราจะต้องช่วยกันผลักดัน และสร้างเสริมลูกศิษย์ของเราให้เป็นคนดีของมหาวิทยาลัย เป็นคนดีของประเทศ…
ขอปิดท้ายด้วยคำพูดของผู้ช่วยศาสตราจารย์คณาวุฒิ ศรีประเสริฐ เป็นประโยคง่าย ๆ แต่แสนลึกซึ้งกินใจ
“…อย่าถามว่ามหาวิทยาลัยให้อะไรกับคุณ คุณต้องถามตัวเองว่า คุณจะทำอะไรให้กับมหาวิทยาลัยนี้ได้บ้าง ถ้าคุณทำได้ ความดีที่คุณทำไว้นั้น ไม่ต้องรอชาติหน้า…”
จึงเป็นหน้าที่ของนิสิต อาจารย์ และคนทำงานในปัจจุบัน ในอันที่จะขับเคลื่อนและสานต่ออุดมการณ์ โดยมีจุดกำเนิดและวิวัฒนาการเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ เป็นต้นทุนแห่งความภาคภูมิใจ ผสานด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่น ผลักดันให้มหาวิทยาลัยนเรศวรก้าวต่อไปอย่างมั่นคง
พรปวีณ์ ทองด้วง
นักประชาสัมพันธ์
สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร