น้ำมาเท่าปี54 บางระกำโมเดลเอาอยู่…!

วันที่ 16 มีนาคม 2555 เวลา 10.00-12.00 น. ที่ศูนย์ประสานแผน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สถานีข่าวระวังภัยในเครือเนชั่นกรุ๊ป จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก้ปัญหาซ้ำซากน้ำท่วมภัยแล้งอำเภอบางระกำ ดำเนินรายการโดยโดม  สุวาวรรณ บก.สถานีข่าวระวังภัย มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประกอบด้วย นายปรีชา  เรืองจันทร์ ผวจ.พิษณุโลก นายนิยม  ช่างพินิจ ส.ส.เพื่อไทยพิษณุโลก นายวิบูลย์  ตั้งเกษมวิบูลย์ ว่าที่นายกเทศบาลบางระกำเมืองใหม่ นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก และนายสมยงศ์  สร้อยทอง กำนันต.วังอิทก ในฐานะตัวแทนภาคประชาชน

 

นายวิบูลย์  ตั้งเกษตรวิบูลย์ อดีตนายกอบต.บางระกำ 2 สมัย ว่าที่นากยกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่ กล่าวว่า แม้ชาวบางระกำจะปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตน้ำท่วมภัยแล้งซ้ำซากได้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชาวบางระกำมีความสุขกับน้ำท่วม เมื่อปี 2554 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่นานมาก เหมือนปี 2538 และ 2545 นาข้าวเสียหายจำนวนมาก และเมื่อรัฐบาลมามีแนวคิดบางระกำโมเดลขึ้นมา ก็เป็นที่คาดหวังว่าจะทำให้บางระกำดีขึ้น จะช่วยปรับสมดุลย์ให้กับชาวบางระกำได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง

 

นายวิบูลย์ เผยต่อว่า สิ่งที่ชาวบางระกำคาดหวังคือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้น้ำที่มาท่วมมาในเวลาที่เหมาะสม เพราะ 70 % ของชาวบางระกำประกอบอาชีพเกษตร ต้องทำนาให้ได้ปีละ 2 ครั้ง เมื่อถึงเวลาน้ำมา ควรจะมีระบบการชะลอน้ำ ไม่ให้มาท่วมที่นาก่อน 15สิงหาคม และเมื่อน้ำท่วมแล้ว ก็ควรมีการคมนาคมที่ดี เช่นการสร้างถนนที่ยกสูง ใช้สัญจรและอพยพ และหลังน้ำลด ก็ควรมีระบบในการกักเก็บน้ำไว้ให้ชาวบางระกำไว้ทำนาในหน้าแล้งด้วย

นายนิยม  ช่างพินิจ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่า บางระกำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งทุกปี เพราะแม่น้ำยมสายเลือดหลักของชาวบางระกำ ไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนลุ่มน้ำอื่น ๆ เขื่อนแก่งเสือเต้นถูกต่อต้านมาก ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าคนบางระกำเก่งมาก ที่สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะน้ำท่วมได้ แต่ก็ใช่ว่าชาวบางระกำจะยินดีกับน้ำท่วม ปีทีผ่านมานาข้าวเสียหายร่วมแสนไร่ เพราะน้ำมาเร็วเกินไป

 

ส.ส.เพื่อไทยพิษณุโลกกว่าต่อว่า การแก้ปัญหาให้ชาวบางระกำ ต้องทำอย่างไรก็ได้ ในการชะลอน้ำจากต้นน้ำให้มาถึงบางระกำช้าลง ให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทัน และเมื่อน้ำมาแล้ว ก็ต้องระบายออกให้เร็ว พร้อมหาแหล่งน้ำกักเก็บไว้ ต้องมีการขุดลอกคูคลองธรรมชาติ และแม่น้ำยมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างฝายน้ำล้นในเขตต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จะช่วยบรรเทาการขาดน้ำได้มาก

 

นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำยมต้องมองสองมิติ คือ มิติอุทกภัยและภัยแล้ง และการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำยุ่งยากกว่าลุ่มน้ำอื่น ๆ ในภาคเหนือที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นตัวบริหารจัดการนื้ โดยแต่ละปีลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าอยู่ที่ 4,000 ล้านลบ.ม.แต่มีแหล่งกักเก็บน้ำอยู่แค่ 400 ล้านลบ.ม. การบริหารน้ำช่วงอุทกภัยก็ต้องใช้วิธีการเฝ้าระวังปริมาณน้ำจากต้นน้ำ โดยเฉพาะเมื่อสถานีวัดน้ำที่บ้านห้วยสัก อ.สอง จ.แพร่ เพิ่มขึ้น ก็ต้องแจ้งเตือนเกษตรกรในอ.พรหมพิรามและอ.บางระกำให้เตรียมรับมือได้เลย น้ำจะมาถึงใน 7-8 วัน ในปีนี้ ได้เตรียมการรับน้ำฝนอย่างพร้อมแล้ว ได้พร่องน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ออก และจะพร่องน้ำจากคลองธรรมชาติของลุ่มน้ำยมออกก่อนที่น้ำเหนือจะมา และคาดว่าปีนี้คงดีขึ้น เพราะรัฐบาลได้เร่งขุดลอกคลองธรรมชาติและคอลงชลประทานเพื่อเร่งการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำน่าน

 

ส่วนมิติของภัยแล้งนั้น เนื่องจากต้องระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เกษตรกรได้ลงมือปลูกข้าวรอบแรก และในแม่น้ำยมระยะทาง 78 กิโลเมตรในเขตจ.พิษณุโลกก็ไม่มีประตูหรือแหล่งกักเก็บน้ำ ขณะนี้ได้ใช้วิธีการแก้ไขโดยการดึงน้ำจากแม่น้ำน่านมาช่วยพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม ในเขตต.ชุมแสงสงคราม ต.ท่านางงาม ช่วยพื้นที่เพาะปลูกได้ 130,000 ไร่ และดึงน้ำจากแม่น้ำปิงผ่านโครงการชลประทานท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร มาช่วยฝนเขตต.บึงกอก ต.คุยม่วงได้ 70,000 ไร่

 

นายสมยงศ์  สร้องทอง กำนันต.วังอิทก ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งของบางระกำนั้นสาเหตุหลักคือไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมในเขตอ.บางระกำเลย ขณะที่ตลอดริมฝั่ง มีสถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้านับ 10 แห่งสูบน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นไปช่วยพื้นที่นา จึงเห็นสภาพแม่น้ำยมแห้งขอดทุกปี ตนอยากให้รัฐบาลพิจารณา สร้างฝายยาง หรือ ประตูน้ำ กั้นแม่น้ำยมในเขตอ.บางระกำเป็นระยะ เพื่อช่วยบรรเทาภัยแล้ง ขณะที่ช่วงน้ำท่วม ควรพิจารณาการก่อสร้างแนวถนนต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ หลายจุดไม่มีท่อรอด หรือบล็อกคอนเวิร์ด

 

นายปรีชา  เรืองจันทร์ ผวจ.พิษณุโลก กล่าวว่า แม้น้ำท่วมจะเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้างระกำ แต่เชื่อว่าชาวบางระกำก็อยากได้วิถีชีวิตที่ดีกว่านี้ ซึ่งที่ผ่าน ๆ มา ชื่อ บางระกำ มีคนรู้จักมากว่าชื่อจังหวัดพิษณุโลกเสียอีก การบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมา พิษณุโลกมีการบูรณาการกันทุกหน่วย และปีที่ผ่านมาก็ได้เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งแบบบูรณาการในชื่อบางระกำโมเดล ที่เป็นกระบวนการทำงานในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ยาวิเศษที่แก้ได้ทุกเรื่อง แต่มีการเตรียมพร้อมหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ ปริมาณน้ำทั้งหมดจะมาเท่าไหร่ จะระบายออกอย่างไร ขั้นตอนการช่วยเหลือ มีคอลเซ็นเตอร์คอยช่วยเหลือผู้ประสบภับ ขั้นตอนการฟื้นฟูเยียวยา เตรียมการช่วยเหลือซ่อมแซมถนน บ้านเรือน ที่เสียหาย การชดเชยพืชผลเกษตร และขั้นตอนการแก้ปัญหาถาวร ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งขณะนี้พิษณุโลกได้เตรียมพร้อมหมดแล้ว ถ้าน้ำมากเท่าปี 2554 มั่นใจว่าจังหวัดสามารถรับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

 

ผวจ.พิษณุโลก กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วม ต้องดูภาพรวมทั้งหมด แต่ละปี พิษณุโลกมีน้ำส่วนเกินที่ต้องระบายออกปีละประมาณ 10,000 ล้านลบ.ม. จากลุ่มน้ำยม 2,900 ล้านลบ.ม.ลุ่มน้ำน่าน 7,000 ล้านลบ.ม.และลำน้ำสาขาแม่น้ำวังทอง ลำน้ำภาค คลองชมพู อีก 1,000 ล้านลบ.ม.  น้ำส่วนเกินเหล่านี้ หลัก ๆ คือ ต้องใช้วิธีการผันแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่าน ในปีนี้ได้เตรียมการรับมือตั้งแต่ต้นน้ำ ในลุ่มน้ำยมก็จะเริ่มจากประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย เพื่อระบายน้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านที่อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ และอีกส่วนหนึ่งจะระบายลงผ่านคลองเมม คลองบางแก้ว ที่ปีนี้มีการขุดลอกคลองสาขา เช่น คลองเกตุ คลองก่ำ การระบายน้ำท่วมออกก็จะเร็วขึ้น

 

ส่วนน้ำเก็บ หรือน้ำที่ต้องเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปีนี้ได้เร่งขุดลอกแก้มบึงบึงระมาณ บึงตะเคร็งและบึงขี้แรงในเขตอ.บางระกำ และได้งบจากกรมทรัพยากรน้ำมาขุดลอกคูคลองสาขาแม่น้ำยม และต้องอาศัยแรงส.ส.พิษณุโลก ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างประตูน้ำ หรือ ฝายยาง กั้นแม่น้ำยมในเขตอ.บางระกำ เป็นช่วง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ในอนาคต หากยังคงเหลือน้ำในแม่น้ำยม คลองธรรมชาติ และบึงแก้มลิงต่าง ๆ จะช่วยเพิ่มน้ำบาดาลใต้ดินได้อีกด้วย จากการดำเนินการบริหารจัดการน้ำในช่วงน้ำท่วมและหน้าแล้ง ตนเชื่อว่าพิษณุโลกเดินมาถูกทางแล้ว ผวจ.พิษณุโลก กล่าว

แสดงความคิดเห็น