เตรียมพื้นที่หน่วงน้ำ2แสนไร่ลดน้ำท่วมภาคกลาง

นายบรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวถึง ความคืบหน้าของโครงการพื้นที่รับน้ำแก้มลิงของจังหวัดพิษณุโลก ว่าทางชลประทานจังหวัดพิษณุโลก ได้จัดเตรียมแผนในการรับมือน้ำท่วมในปีนี้ว่า ทางจังหวัดได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ โครงการขุดลอกและพัฒนาแก้มลิง 3 แห่ง คือ บึงระมาณ บึงตระเคร็ง และ บึงขี้แร้ง อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทางธรรมชาติ และป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาว โดยใช้งบประมาณต่อเนื่อง 3 ปี 2555-2557 วงเงิน 300 ล้านบาท ทำการขุดลอก กักเก็บน้ำได้ 17 ล้านลบ.ม.

นอกจากนี้ทางจังหวัดพิษณุโลก ได้รับงบประมาณ 20 ล้านบาท จากกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ซึ่งขณะกำลังอยู่ในช่วงของการประมูลงานรับเหมา นอกจากนี้ทางชลประทานก็ยังได้เร่งขุดลอกคลองทางธรรมชาติ โดยเฉพาะคลองกล่ำ คลองเกตุ หมู่ 9 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อระบายน้ำฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม รวมถึงสำหรับรองรับน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพื่ออุปโภค บริโภค และทำการเกษตร และได้งบประมาณ 70 ล้านบาท ในการปรับปรุงประตะบายน้ำคลองบางแก้ว อ.บางระกำ เพื่อให้การระบายน้ำที่ท่วมของออกได้เร็วขึ้นอีกเท่าตัว

ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก กล่าวอีกว่า ส่วนที่สอง ที่ทางจังหวัดพิษณุโลก ได้กระทำอยู่ในขณะนี้คือ สำรวจพื้นที่หน่วงน้ำ ที่จังหวัดพิษณุโลก ได้จัดอยู่ในประเภทที่ 5 ของพื้นที่รับนน้ำนอง การชดเชย และการช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งประชาชนจะได้รับเงินชดเชยไร่ละ 500-1,000 บาท ต่อ ไร่

 

โดยจังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ 4 อำเภอที่กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลไปสู่ภาคกลางให้น้อยและนานที่สุด ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม มีพื้นที่หน่วงน้ำจำนวน 65,624 ไร่ อ.บางระกำ มีพื้นที่หน่วงน้ำ จำนวน 81,846 ไร่ อ.เมือง มีพื้นที่หน่วงน้ำ จำนวน 24,314 ไร่ และ อ.บางกระทุ่ม มีพื้นที่หน่วงน้ำ จำนวน 64,000 ไร่ รวมทั้งสิ้น 4 อำเภอมีพื้นที่ 235,784 ไร่ ส่วนราษฎร ทั้ง 4อำเภอที่ได้รับผลกระทบนั้นขณะนี้ทางจังหวัดกำลังอยู่ในการสำรวจ

 

“ พื้นที่แก้มลิงรับน้ำของจังหวัดพิษณุโลก ไม่เหมือนโครงการแก้มลิง ของภาคกลาง ที่รับน้ำเข้าแล้วมีประตูเปิดปิด การชดเชยตรงนั้นไร่ละ 5,000 บาท แต่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก นั้น เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เป็นพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วมขังเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อรับน้ำมาแล้ว ต้องหน่วงน้ำไว้ให้นานที่สุด เช่น น้ำเคยท่วมบางระกำนาน 90 วัน ก็อาจจะหน่วงน้ำไว้ที่ประมาณ 100 วันเป็นต้น  เพื่อให้ภาคกลางไม่ให้มีน้ำมาก หรือท่วมเหมือนปีที่ผ่านมา” นายบรรดิษฐ์ กล่าว   

 

/////

แสดงความคิดเห็น