วันที่ 10 มีนาคม 2555 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณริมตลิ่งแม่น้ำแควน้อยฝั่งตะวันออก ม.1 บ้านไผ่ค่อม ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใกล้กับวัดไผ่ค่อม ชาวบ้านบ้านไผ่ค่อมร่วม 50 ชีวิต ได้ช่วยกันสร้างพนังกั้นแม่น้ำแควน้อย บริเวณจุดที่ตลิ่งทรุดตัว พังทลายลงไปในแม่น้ำแควน้อย เพื่อทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน ที่แม่น้ำแควน้อยจะเพิ่มระดับสูงมาก และอาจจะไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร หากไม่เตรียมการทำแนวป้องกันตั้งแต่วันนี้
การสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วมริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยของชาวบ้านไผ่ค่อมครั้งนี้ เป็นการดำเนินการกันเองโดยภาคประชาชน ไร้งบประมาณจากภาครัฐเข้ามาสนับสนุน แม้ว่าจังหวัดพิษณุโลกจะถูกตั้งให้เป็นจังหวัดต้นแบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งเชิงบูรณาการในชื่อบางระกำโมเดล และนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเองก็มาเดินสายประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่จังหวัดต้นน้ำ แต่ที่นี่บ้านไผ่ค่อน การดำเนินการป้องกันน้ำท่วมปี 2555 ดำเนินการโดยเรี่ยวแรงและเงินทุนของชาวบ้านเองทั้งหมด นำโดยนายนิรันทร์ รอดมี ผู้ใหญ่บ้านม.1 บ้านไผ่ค่อม
นายนิรันดร์ รอดมี ผู้ใหญ่บ้านม.1 บ้านไผ่ค่อม ต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า เมื่อปลายปี 2554 แม่น้ำแควน้อยที่ไหลผ่านบ้านไผ่ค่อมมีระดับสูงมาก ถึงระดับถนนคอนกรีตริมแม่น้ำน่าน ชาวบ้านต้องช่วยกันนำกระสอบทรายมากั้นไม่ให้น้ำไหลเข้าหมู่บ้าน และน้ำแควน้อยก็อยู่ในระดับสูงร่วม 2 เดือน เนื่องจากแม่น้ำน่านเองก็มีความสูงมาก หลังจากน้ำลด ตลิ่งแม่น้ำแควน้อยได้ทรุดลงหลายจุด และจะเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอย่างยิ่งหากไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ตนจึงประกาศขอแรงชาวบ้าน ช่วยกันสละเวลา แรงกาย และเงินเรี่ยไร มาช่วยกันทำแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 3 จุดใหญ่ ๆ ได้แก่จุดแรกที่กำลังก่อสร้างระยะทางประมาณ 50 เมตร จุดที่สองระยะทางประมาณ 30 เมตร และจุดที่ 3 ใต้วัดไผ่ค่อนระยะทางประมาณ 200 เมตร
นายนิรันดร์ เผยต่อว่า ถ้าปีนี้น้ำมากเหมือนปีที่แล้ว และไม่สร้างแนวป้องกัน คาดว่าน้ำจะไหลจากจุดนี้เข้าไปท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฏร และพื้นที่นาของม.1 จำนวน 1,200 ไร่ และน้ำก็จะไหลไปท่วมหมู่บ้านอื่น ๆ อีกหลายหมู่ในเขตต.ปากโทก ต.หัวรอ อ.เมืองพิษณุโลก ที่ผ่านมา เคยเสนอผ่านอบต.ปากโทก เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณในการสร้างพนังเขื่อนกั้นน้ำท่วมเพื่อของบจากอบจ.พิษณุโลก ก็ได้แต่เพียงว่า ไม่มีวี่แวว งบประมาณไม่ผ่าน ตนเห็นว่า หากไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ก็จะเสี่ยงต่อน้ำท่วมอย่างมาก จึงต้องขอแรงชาวบ้าน ขอใช้เวลาช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มาช่วยกันสร้าง ได้เงินเรี่ยไรมาประมาณ 12,000 บาท นำไปซื้ออุปกรณ์ประเภท เชือก ลวดสลิง และให้แม่บ้านทำกับข้าวเลี้ยงชาวบ้าน ส่วนไม้ไผ่และไม้ยูคา ที่นำมาเป็นเสาหลักนั้น ก็ตัดจากริมแม่น้ำ และได้จากการบริจาคของชาวบ้าน และจะทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
สำหรับการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำของชาวบ้านไผ่ค่อมนั้น ใช้ไม้ไผ่และไม้ยูคาลิปตัสเป็นโครงหลัก โดยตอกสาหลักในแนวตลิ่งที่ทรุดตัว และใช้ลวดสลิง เชือก มัดโครงไม้ไผ่เพื่อเป็นแนวเขื่อน จากนั้น ก็จะใช้ไม้ไผ่สานเป็นพนัง ใช้เศษไม้ ใส่ลงไปเสริมความแข็งแรง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากช่วงเดือนกันยาน น้ำแควน้อยจะปริ่ม ๆ ตลิ่ง หากแนวป้องกันทานกระแสน้ำได้ ก็จะสะสมดินตะกอนไว้ในแนวพนังกั้นน้ำ ปีต่อ ๆ ไป ก็จะเริ่มนำหญ้าพง หญ้าแฝก มาปลูกเสิรมความแข็งแรงของแนวพนังกั้นน้ำ
ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า รองบจากรัฐไม่ไหว ปีที่แล้วพิษณุโลกน้ำท่วมมาก และอะไร ๆ ก็บางระกำโมเดล งบประมาณมาลงที่พิษณุโลกจำนวนมาก แต่ชาวบ้านไผ่ค่อมไม่ได้รับ วันนี้พวกเราจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง ทำเท่าที่ทำได้ไปก่อน