ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีมีครูโรงเรียนพุทธชินราช ได้หยิบยกเหตุการณ์กลุ่ม นปช.ได้ค่าชดเชยเสียชีวิต 7.75 ล้านบาท ส่วนทหารปฏิบัติหน้าที่ดูแลอธิปไตยภาคใต้เสียชีวิตได้ 5 แสน โดยออกข้อสอบเก็บคะแนนให้เด็กนักเรียนแสดงความคิดเห็น จนทำให้กลุ่มเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวกดดันครูคนดังกล่าว ทั้งให้มีการสอบสวนโยกย้ายออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งมีการข่มขู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.55 ได้มีกลุ่มพันธมิตรจังหวัดพิษณุโลกนำโดย น.ส.กนกพรรณ วิริยะดำรงกุล ประธานชมรมคนพิษณุโลกรักษ์แผ่นดินนายทวี ทองถัน ประธานกลุ่มประชาภิวัฒน์ ชมรมคนรักในหลวง กลุ่มอาจารย์ ม.นเรศวรรักชาติและเครือข่ายกลุ่มเอ็นจีโอประมาณ 80 คน เดินทางไปยังโรงเรียนพุทธชินราชพิทยา เพื่อมอบดอกกุหลาบแดงให้กำลังใจกับครูผู้ที่ออกข้อสอบ โดยผ่านนายพงศ์ ดวงอุปะ รอง ผอ.โรงเรียน นายประพันธ์ พุฒตาล และ นายทรงภรต ภู่กร ผู้ช่วย ผอ.โรงเรียนพุทธชินราชพิทยา พร้อมยื่นหนังสือเปิดผนึกขอคัดค้านการกระทำของกลุ่มเสื้อแดงที่มา ที่ข่มขู่ครูผู้ออกข้อสอบ ถึงขั้นโยกย้ายและให้ขอโทษครูต่อหน้าเสาธงนั้น
ต่อมาประธานชมรมคนพิษณุโลกรักแผ่นดิน เป็นผู้อ่านจดหมายเปิดผนึก ต่อบรรดากลุ่มครูอาจารย์ว่า “ครูเป็นผู้แสดงความกล้าหาญ กล้าเปิดเผยความจริง เป็นแบบอย่างแก่ครูทั่วประเทศที่เปี่ยมไปด้วยจรรยาบรรณแห่งครูแสดงความกล้าหาญยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะถูกกดดันจากบุคคลหลายฝ่ายพวกเราในนามของภาคประชาชนจังหวัดพิษณุโลก จึงร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมให้กับครูด้วย ในนามของภาคประชาชนที่ติดตามข่าวดังกล่าวมีความคิดเห็น ดังนี้
1.ตามหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมา รวมทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และ พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542 มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และนโยบายของรัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ มากกว่าการท่องจำ มีครูข้าราชการครูคนหนึ่ง ได้นำข้อเขียนสาธารณะซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นจริงในประเทศไทย ที่เป็นทั้งข่าวปรากฏทั้งในวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และ เว็ปไซด์ต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อสารเสรี รวมทั้งนักเรียนเข้าถึงข้อมูลได้ นำข้อเขียนดังกล่าวออกข้อสอบเพื่อให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์เป็นความผิดด้วยหรือ ส่วนผู้ที่ทำความผิดก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม น่าจะเป็นบุคคลที่นำข้อสอบดังกล่าวไปถ่ายเอกสารและแจกจ่ายไปทั่วเมืองและยังมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งมาข่มขู่เพื่อให้ผู้บริหารโรงเรียนเอาผิดกับครู ซึ่งกรณีหลังนั้นข้อให้ท่านพิจารณาให้ความเป็นธรรมด้วย
2. ครูนักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นได้อย่างเสรี เช่น อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มนิติราษฎร์ที่ออกมา เคลื่อนไหวการแก้กฎหมาย ม.112 ทำไมสามารถทำได้ และ 3.การนำปรากฏการณ์จริงในสังคม เพื่อให้นักเรียนรู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่มีเจตนาสร้างความแตกแยก แต่ผู้ใหญ่ที่นำข้อสอบไปเผยแพร่น่าจะเป็นผู้สมควรถูกลงโทษ เพราะเป็นการไตร่ตรอง เป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง
ด้าน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธชินราช กล่าวว่า ไม่ขอให้ข้อมูลใดๆกับกรณีครูผู้ออกข้อสอบ เพราะจะไปกระทบกระเทือนจิตใจ ต้องรอผู้อำนวยการโรงเรียนเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ข้อมูล และเวลานี้ติดราชการที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นกลุ่มภาคประชาชนเดินทางไปสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 39 (สพม.39) เพื่อยื่นหนังสือ ผ่านถึงรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ แต่ผอ.สพม.39 ติดราชการ จึงได้มอบหมายให้ นายแดง วรศักดิ์วุฒิพงษ์ รองผู้อำนวยการ สพม.39 ให้มารับเรื่อง และดำเนินการตามขั้นตอนขอเวลา15-20 วัน โดยทางกลุ่มประชาชนจะกลับมาสอบถามผลอีกครั้ง ก่อนจะพากันเดินทางกลับ