แผนกันน้ำท่วมบางระกำ

ในปี 2554 จังหวัดพิษณุโลกมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้ง 9 อำเภอ พื้นที่เสียหาย 6.8 แสนไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรนาข้าว มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย 23 ราย บ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 56,442 ครัวเรือน และเมื่อกล่าวถึงน้ำท่วมพิษณุโลก มักจะนึกถึงอำเภอบางระกำ พื้นที่แอ่งกระทะที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทุกปี เป็นระยะเวลานาน 3-4 เดือน พื้นที่นาข้าวเสียหายสองแสนกว่าไร่ และเมื่อปีที่แล้ว อำเภอบางระกำก็ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดในระยะเริ่มต้นของฤดูน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งแบบบูรณาการในชื่อบางระกำโมเดล

ในปี 2555 คาดการณ์กันล่วงหน้าได้ว่า พื้นที่อำเภอบางระกำ ก็จะยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมเฉกเช่นทุกปี ด้วยอิทธิพลของน้ำยมไหลหลากล้นตลิ่ง จะมากน้อย ท่วมขังช้า เร็ว ยาวนาน ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน และแผนการบริการจัดการน้ำ ที่ปีนี้ ทุกฝ่ายต่างระดมสมองกันวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยกันล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 255 เพื่อรองรับฤดูน้ำหลากในเดือนกรกฏาคม

นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลกมีสองลุ่มน้ำสำคัญ ในการวางแผนป้องกันอุทกภัย ได้แก่ ลุ่มน้ำน่านมีที่เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่คือเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ก่อนถึงฤดูฝน จะระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติให้เหลือ 45 % และน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนให้เหลือ 30 % ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2555

ในส่วนของลุ่มน้ำยม ไม่มีเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ การบริหารจัดการต้องใช้สิ่งก่อสร้างที่กรมชลประทานมีอยู่ เริ่มจากประตูน้ำหาดสะพานจันทร์ ที่อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ประตูน้ำบ้านใหม่โพธิ์ทอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และคลองธรรมชาติที่มีอยู่บริการจัดการน้ำของลุ่มน้ำยม ควบคู่ไปกับแม่น้ำน่าน

การบริหารจัดการน้ำท่วมในเขตอ.บางระกำ  ใช้วิธีเฝ้าระวัง ก่อนน้ำมาในต้นฤดูฝน จะมีการระบายน้ำออกจากคลองธรรมชาติ โดยเฉพาะคลองเมม หรือแม่น้ำยมสายเก่า ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริการจัดการน้ำ คลองเมมตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ก่อนที่จะเข้าสู่หน้าฝน จะเริ่มจากการะบายน้ำจากคลองเมม ที่เชื่อมกับลำคลองสาขาแม่น้ำยมในเขตอ.บางระกำ ออกสู่แม่น้ำน่าน ผ่านคลองชลประทานที่มีอยู่ คือคลองDR.15.8 และคลอง DR.2.8

และเมื่อถึงฤดูฝน ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำท่าแต่ละปีเฉลี่ย 4,000 ล้านลบ.ม. แต่มีแหล่งกักเก็บน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กเพียง 400 ล้านลบ.ม. เมื่อฝนตกในลุ่มน้ำยมตั้งแต่จังหวัดแพร่ และสุโขทัย ก็จะไหลลงสู่แม่น้ำยม จะล้นตลิ่ง จะไหลท่วมทุ่งตั้งแต่จังหวัดสุโขทัยลงมา ผ่านทางอ.พรหมพิราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก การบริหารจัดการในหน้าฝน หลังจากพร่องน้ำออกจากคลองธรรมชาติแล้ว เมื่อน้ำยมเริ่มล้นตลิ่ง ก็จะไหลลงสู่คลองธรรมชาติเหล่านี้ โดยมีคลองเมม หรือ แม่น้ำยมสายเก่า เป็นตัวรับน้ำจากประตูน้ำหาดสะพานจันทน์ จ.สุโขทัย การบริการน้ำจึงต้องใช้การจัดการการบริหารจัดการในลุ่มน้ำน่านควบคู่ไปด้วย ลดปริมาณการปล่อยน้ำของเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เพื่อให้ระดับน้ำของแม่น้ำน่านต่ำกว่าแม่น้ำยม  จึงจะสามารถระบายน้ำจากคลองเมม ออกสู่แม่น้ำน่านได้ น้ำที่ท่วมในเขตอ.บางระกำ ก็จะไม่สูงเกิน และไม่ท่วมขังนานเกินไป

ในการวางแผนป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน รัฐบาลได้มอบงบประมาณระยะเร่งด่วนการการขุดลอกคลองธรรมชาติที่ตื้นเขิน ในเขตอ.บางระกำ ได้แก่ คลองเมม คลองเกตุ คลองกล่ำ ในม.9 บ้านตระแบกงาม ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ที่ในเขตอ.กงไกรลาศจ.สุโขทัยมีการขุดลอกอยู่แล้ว แต่ในเขตอ.บางระกำยังตื้นเขิน คลองเกตุและคลองกล่ำ จะเชื่อมกับคลองวังแร่ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำยม ขณะนี้กำลังดำเนินการขุดลอกสองคลองระยะทางรวม 10 กิโลเมตร คาดว่าแล้วเสร็จในเดือนกรกฏาคม 2555

ขณะที่คลองของกรมชลประทานที่มีอยู่เดิม เป็นหัวใจการการบริหารน้ำท่วมในเขตอ.บางระกำนั้น รัฐบาลก็ให้งบประมาณมาขุดลอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำท่วมขังในเขตอ.บางระกำ ออกสู่แม่น้ำน่านให้เร็วขึ้น ได้แก่คลอง DR 15.8 ศักยภาพระบายน้ำสู่แม่น้ำน่าน 60 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ที่ผ่านมาระบายน้ำได้แค่ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที และคลอง DR.2.8 มีศักยภาพระบายน้ำสู่แม่น้ำน่านได้ 300 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ที่ผ่านมาระบายได้แค่ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้งบต่อเนื่อง 3 ปี เป็นงบ 2555-2557 ในการขุดลอก 3 บึงรวม 500 กว่าล้านบาท ในเขตอ.บางระกำ เพื่อเป็นแก้มลิงเก็บน้ำในช่วงหน้าฝน และเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ในใช่การเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ได้แก่ บึงระมาน บึงตะเคร็ง และบึงขี้แล้ง ด้วยแผนการเตรียมการรับมืออุทกภัยของรัฐบาลในปีนี้ และแผนการรับมือน้ำท่วมของจังหวัดพิษณุโลก ทั้ง พร่องน้ำออกจากเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ การขุดลอกคูคลองเครือข่ายลุ่มน้ำยม คาดว่าปีนี้ น้ำจะไม่ท่วมขังบางระกำหนักและนานเหมือนปีก่อน ที่ท่วมขังนานทำลายสถิติถึง 141 วัน จากเดิมที่พื้นที่อ.บางระกำน้ำจะท่วมขังเฉลี่ย 110-120 วัน เนื่องจากมีฝนมาก และการบริหารจัดการน้ำต้องมองในภาพรวมทั้งลุ่มน้ำ เมื่อลุ่มน้ำตอนล่างวิกฤติ พื้นที่ตอนบนก็ต้องช่วย หรือกรณีลุ่มน้ำตอนล่างไม่วิกฤติ ก็สามารถระบายน้ำที่ท่วมขังจากบางระกำได้เร็วขึ้น

 

สำหรับชาวบางระกำนั้น มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมายาวนาน และได้ปรับตัวการใช้ชีวิตในพื้นที่รับน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ชาวบางระกำมีอาชีพหลักคือการปลูกข้าว ใน 1 ปี จะทำนาได้สองรอบ รอบแรกหลังจากน้ำที่ท่วมุท่งลดลงในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะหว่านข้าว เพื่อเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนมีนาคม จากนั้น จะลงถือไถและหว่านนาปรังรอบที่สองทันที เพื่อจะเก็บเกี่ยวให้ได้ทันในช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม จากนั้น น้ำเหนือจะไหลบ่าท่วมทุ่ง มาท่วมพื้นนาเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ ที่ปีที่แล้ว มีปริมาณน้ำท่วมขังประมาณ 600 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำค่อนความจุของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และน้ำหลากปี2554 สร้างความเสียหายให้กับนาข้าวบางระกำอย่างมหาศาล ข้าวที่กำลังออกรวงจมน้ำท่วมขังนาน4เดือน ในปีนี้ ชาวนาคาดหวังอย่างมากกว่า ต้องเร่งทำนาให้เร็ว เพื่อจะทำนาได้สองรอบ และเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนน้ำจะท่วมข้าวเสียหาย แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล จึงเป็นอีกความหวังหนึ่งของชาวนาบางระกำ

แสดงความคิดเห็น