บ้านลอยน้ำ ต้นแบบปรับตัวอยู่กับน้ำ

บ้านลอยน้ำ  ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างจำนวน 5 หลัง ในพื้นที่ม.15 บ้านคลองปลากราย ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บริษัทโอสถสภา จำกัด ร่วมกับจังหวัดพิษณุโลก และวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกดำเนินการก่อสร้างให้ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมจนบ้านเรือนได้รับความเสียหายอย่างมากในอ.บางระกำ โดยบริษัท โอสถสภาออกทุนดำเนินการก่อสร้างให้ควบคู่ไปกับการซ่อมและสร้างบ้านเรือนราษฎรให้แก่ประชาชนที่ประสบภัยดินโคลนถล่มในพื้นที่บ้านราษฎรเทิดชาติ ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ตามโครงการซ่อมสร้างบ้านเทิดชาติ จากเหตุอุทกภัย อีกจำนวน 15 หลังคาเรือน โดยใช้งบประมาณทั้ง 2 โครงการ ใช้จำนวนเงินทั้งสิ้น 5 ล้านบาท

 

โดยขึ้นเสาเอกบ้านลอยน้ำไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 และมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555

 

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างบ้านลอยน้ำที่บ้านคลองปลากราย อ.บางระกำ นั้น เป็นจุดที่น้ำท่วมขังสูง เป็นเวลานานเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูฝนช่วงเดือนกรกฏาคม-พฤศจิกายนของทุกปี พื้นที่บริเวณนี้จะกลายสภาพเป็นทะเสสาบขนาดใหญ่ น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งท่วมทุ่งนาและบ้านเรือนประชาชนนาน 3-4 สูงแทบทุกปี ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 2-4 เมตร ชาวบ้านที่มีบ้านชั้นเดียว ต้องอพยพไปอาศัยปลูกเพิงพักชั่วคราวบนที่สูง ขณะที่บ้านเรือนจำนวนมาก ได้สร้างบ้านแบบยกเสาสูง เพื่อให้พ้นน้ำอยู่แล้ว เป็นการปรับตัวของชาวบางระกำในการอยู่กับน้ำที่พบเห็นได้ทั่วไป

นายสัมฤทธิ์  เล็กมีชัย อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 347/15 ม.15 บ้านคลองปลากราย หนึ่งใน 5 ของชาวบ้านคลองปลากรายที่ได้รับการช่วยเหลือสร้างบ้านหลังใหม่ให้ และเป็นบ้านลอยน้ำ เปิดเผยว่า ตนและภรรยานางสุชิสา  เล็กมีชัย มีอาชีพเอาถ่าน อาศัยอยู่ที่นี่ร่วม 20 ปีแล้ว เป็นที่ดินของพ่อตา และประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเป็นประจำทุกปี และต้องอพยพไปปลูกเพิงพักชั่วคราวบนเนินดินสูงนานหลายเดือน ปี 2554 น้ำท่วมนานมากถึง 6 เดือน สูงเกือบมิดหลังคา และกระแสน้ำที่ไหลแรง ทำให้บ้านตนพังเสียหายอย่างหนัก

สัมฤทธิ์ เผยต่อว่า เมื่อจังหวัดพิษณุโลกและโอสถสภามาสำรวจ และจะสร้างบ้านให้ใหม่ เป็นรูปแบบบ้านลอยน้ำ ก็รู้สึกดีใจอย่างมาก เมื่อถึงหน้าน้ำ จะได้ไม่ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น เมื่อน้ำมา บ้านก็จะค่อย ๆ ลอยขึ้นตามน้ำ โดยมีเสาหลักยึดตัวบ้านไว้ 4 เสา และทำไว้สูงร่วม 4 เมตร คงเพียงพอกับระดับน้ำที่ท่วมทุกปี จะได้อาศัยอยู่ในบ้านได้ตลอด ส่วนการประกอบอาชีพการเดินทางก็ไม่มีปัญหา เพราะชาวบางระกำในพื้นที่น้ำท่วมต่างมีเรือไว้ประจำบ้านกันอยู่แล้ว ยิ่งน้ำมาตนก็ยิ่งมีโอกาสมาก เก็บท่อนไม้ที่ลอยมาตามน้ำไปเผาถ่านขาย

สำหรับรูปแบบและหลักการของบ้านลอยน้ำที่กำลังสร้างในพื้นที่อ.บางระกำจำนวน 5 หลังนั้น นายจรัญ  พรมเสน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกเปิดเผยว่า  วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก รับเป็นผู้ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างบ้านลอยน้ำทั้งหมดเอง หลักการของบ้านลอยน้ำก็คล้าย ๆ กับเรือนแพในแม่น้ำน่าน คือมีทุ่นลอย ที่ใช้ถังแกลลอนรองอยู่ใต้พื้นบ้าน มีเสาหลัก 4 เสา วางไว้ 4 มุมเพื่อยึดเกาะโครงสร้างบ้านไว้ บ้านจะอยู่กับที่ ไม่ต้องใช้เชือกผูกขึ้นลงเหมือนเรือนแพ เมื่อระดับน้ำค่อย ๆ เพิ่ม บ้านก็จะยกตัวตามระดับน้ำ เมื่อระดับน้ำลงก็จะค่อย ๆ ลง และมีฐานรองรับ

 

ขณะนี้วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกได้ประสานความร่วมมือจากอาจารย์และนักศึกษาทุกช่าทุกแนผกที่มีอยู่ร่วมกันสร้างบ้านลอยน้ำให้เป็นไพร็อตโปรเจค หรือบ้านต้นแบบ ทีอยู่อาศัยได้จริง และเป็นต้นแบบของการปรับตัวอยู่กับน้ำ เริ่มจากการเขียนแบบโดยแผนกสถาปัตยกรรม ก่อสร้างโดยแผนกช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างไฟ โดยแบ่งงานกันทำ ขณะนี้ ได้ขึ้นเสาหลัก 4 เสา และฐานรองรับน้ำหนักบ้านเรียบร้อยแล้ว และกำลังประกอบตัวโครงสร้างบ้านที่ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักที่วิทยาลัยฯ โดยจะยกโครงสร้างและฝาไปประกอบที่จุดก่อสร้างภายหลัง จะกำหนดส่งมอบให้ชาวบ้านได้ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้

 

ส่วนรูปแบบของบ้านลอยน้ำที่กำลังก่อสร้างในอ.บางระกำนั้น เป็นลักษณะบ้านเดี่ยว หนึ่งห้องนอน หนึ่งห้องน้ำ ตัวบ้านอยู่สูงจากพื้น 1 เมตร ใต้ตัวบ้านประกอบด้วยฐานรองรับและทุ่นลอย โดยมีเสาสไลด์ หรือสาเหลักคอยยึดตัวบ้านให้อยู่กับที่ 4 มุมรอบบ้าน เวลาบ้านยกตัวลอยตามน้ำจะขึ้นลงโดยมีเสาสไลด์เป็นตัวยึดเกาะ ขณะที่สนนราคาค่าก่อสร้างนั้นอยู่ที่ประมาณหลังละ 2.5 แสนบาท

 

คาดว่าประมาณเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม 2555 เมื่อน้ำยมหลากมาท่วมทุ่งบ้านคลองปลากราย จะได้เห็นประสิทธิ์ภาพของบ้านลอยน้ำต้นแบบนี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับประชาชนทั่วไป ที่สนใจอยากได้แบบและปรึกษาการก่อสร้างบ้านลอยน้ำ สามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก

 

แสดงความคิดเห็น