คดีเปรมฤดีจะลงเอยอย่างไร

ผลจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  ที่มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีคำสั่งให้ นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก พ้นจากตำแหน่งตามคำพิพากษา หลังจาก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555  นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก  ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเห็นพ้องด้วยกับศาลปกครองพิษณุโลก ที่ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (สมัยนายพิพัฒน์ วงศาโรจน์) ที่ได้วินิจฉัยว่านางเปรมฤดี ชามพูนทนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาหรือกิจการ ที่เทศบาลนครพิษณุโลกกระทำกับเทศบาลนครพิษณุโลก โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (นายปรีชา เรืองจันทร์) มีคำวินิจฉัยใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดและมีคำวินิจฉัยใหม่ว่า “นางเปรมฤดี ชามพูนท ขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี ปี             2546-2550       เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยทางอ้อมในสัญญาที่เทศบาลนครพิษณุโลก เป็นคู่สัญญากับโรงแรมอมรินทร์ลากูน ตามโครงการประชุมนายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาลภาคเหนือ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2546 ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2546โครงการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพิษณุโลก ในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 และการประชุมนายกเทศมนตรีสตรีทั่วประเทศ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2550 ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2550 ถึงวันที่ 8 มีนาคม 2550 ตามมาตรา 48 จตุทศ วรรคหนึ่ง(3) แห่ง พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติเทศบาล(ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 อันเป็นผลให้ นางเปรมฤดี ชามพูนท ต้องตกเป็นบุคคล ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีตามมาตรา 45 (17) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545ประกอบมาตรา 48 เบญจ (3) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล(ฉบับที่ 12) พ.ศ.2546 และต้องพ้นจาก ตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 48 เบญจ และกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 48 จตุทศ ตามมาตรา 48 ปัญจทศ วรรคหนึ่ง(4)และ (8) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 สั่ง ณ วันที่ 26 มกราคม 2555”

 

ผลจากคำสั่งดังกล่าว มีผลทำให้ นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ต้องตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น นับแต่วันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกมีคำสั่ง

 

ด้าน นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกหนักใจกับคำพิพากษาของศาลปกครองแต่อย่างใด เวลานี้ กำลังรอคำวินิจฉัย จากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ว่าต้องให้ทางเทศบาลนครพิษณุโลก และตนในฐานะนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ทำอย่างไรต่อ ช่วงนี้ก็อยู่นิ่ง ๆ ไม่เข้าไปที่ทำงานในเทศบาลนครพิษณุโลก ไม่เซ็นต์หนังสือ   ปล่อยให้เทศบาลนครพิษณุโลกเป็นสุญญากาศ จนกว่าคำสั่งจะชัดเจน  แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เราก็ต้องทำตาม เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย

 

นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก จัดว่า เป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถพัฒนาเมืองพิษณุโลก ได้เจริญเติบโตอย่างผิดหูผิดตา จากโครงการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ โครงการสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ การพัฒนาริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำน่านให้เป็นจุดท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนของประชาชน  การพัฒนาสวนสาธารณะบริเวณสามแยกเรือนแพ การทำให้เขตเทศบาลนครพิษณุโลกเป็นถนนปลอดฝุ่น การรณรงค์คัดแยกขยะ การพัฒนาบ่อกำจัดขยะเป็นแบบระบบฝังกลบ  การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนต่าง ๆ  จนทำให้ตลอด ระยะเวลา 16 ปี จาก 4 สมัยของการดำรงตำแหน่งของนางเปรมฤดี ได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากในจังหวัดพิษณุโลก  จากหน่วยงานรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรม และรางวัลจากนานาประเทศ มากมาย จนชื่อเสียงของเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก และ เทศบาลนครพิษณุโลก ดังกระฉ่อน

 

แม้จะมีผลงานโดดเด่น และได้รับความไว้วางใจจากชาวพิษณุโลกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่เมื่อมาเจอคดีค้างเก่า ที่นายชัยวัฒน์ฟ้องร้องเกาะไม่ปล่อย  จนมีคำวินิจฉัยโดยศาลปกครองสูงสุดออกมาและผวจ.พิษณุโลกคนปัจจุบันทำตาม ทำให้ความมั่นคงทางการเมืองของเปรมฤดี  ชามพูนท สั่นครอนอย่างมาก นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด จะเป็นกรณีศึกษา เป็นบรรทัดฐาน ที่ผู้บริหารองกรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ต้องศึกษาอย่างละเอียด

 

ขณะที่ชาวพิษณุโลกยังติดตาม และอยากทราบถึงอนาคตต่อไปว่าจะลงเอยอย่างไร ความผิดจากการมีส่วนได้เสียทางตรงหรือทางอ้อม ในสัญญาหรือกิจการที่เทศบาลนครพิษณุโลกกระทำกับโรงแรมอมรินทร์ลากูน ตามที่ถูกนายชัยวัฒน์ คลศรีชัย อดีตผู้สมัครนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ร้องไว้เมื่อปี 2550  และการที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินว่าเป็นความผิดนั้น ส่งผลให้ การเป็นนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก นับตั้งแต่ ปี 2550จนถึงปัจจุบัน หรือในช่วงสมัยที่ 4 และสมัยที่ 5 ของการดำรงตำแหน่งของนางเปรมฤดี ชามพูนท ในฐานะนายกเทศมนตรี เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนับตั้งแต่นั้น หรือความผิดดังกล่าว จะเป็นความผิดหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกวินิจฉัยใหม่ ตามหนังสือคำสั่ง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด  ที่ลงวันที่ 26 มกราคม 2555 เป็นเรื่องที่ประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกเฝ้าติดตามผลอย่างไม่กระพริบตา เพราะอย่างไรเสีย เมื่อวินิจฉัยออกมาว่าผิด ก็ต้องตอบได้ว่าเริ่มผิดเมื่อไหร่ ลงโทษเมื่อไหร่ อย่างไร รวมไปถึงต้องมีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อไหร่ อย่างไรด้วย

 

กรรณิการ์  แกล้วกสิกิจ/รายงาน

แสดงความคิดเห็น