สามล้อ

ขณะที่แท็กซี่วิ่งกดมิเตอร์รับผู้โดยสารทั่วเมืองสองแคว ผ่านหน้าสามล้อถีบที่จอดรอคอยผู้โดยสารมาใช้บริการ เป็นระบบขนส่งมวลชนต่างยุคสมัยที่ขับเคลื่อนบริการคนพิษณุโลกควบคู่กันไป แท็กซี่พิษณุโลกใช้แก๊ส เปิดแอร์เย็นฉ่ำ กำลังเพิ่มปริมาณรถสนองผู้ใช้บริการ  สามล้อใช้สองแรงปั่น นับวันจะล่วงโรยราไปตามอายุขัยของผู้ให้บริการ ฤาจะเข้าสู่ยุคสุดท้าย”สามล้อถีบ”แห่งเมืองสองแคว

 

สามล้อถีบเป็นระบบขนส่งมวลชนยุคแรกของเมืองพิษณุโลก เฉกเช่นกับจังหวัดอื่นทั่วประเทศ  หลายจังหวัดไม่มีสามล้อปั่นให้บริการแล้ว แต่พิษณุโลกยังคงพบเห็นได้ในเขตตัวเมืองชั้นใน ที่จอดคอยรับผู้โดยสารตามสถานีรถไฟ ตลาดสด และโรงพยาบาล เล่ากันว่า ช่วงบูมสุด ๆ ยุคแรก ๆ ระหว่างปี พ.ศ.2500-2520 มีสามล้อถีบให้บริการในพิษณุโลกมากถึง 4,000 คัน แต่ปัจจุบันมีผู้ยึดอาชีพนี้ไม่ถึง 100 คัน และเริ่มหดหายไปตามกาลเวลา ตามอายุขัยของผู้ใช้แรงกายที่มีอายุเฉลี่ยเกิน 60 ปีขึ้นไปแทบทั้งนั้น

 

จำนงค์  งามสมพงศ์ อายุ 68 ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 30 ม.9 ต.วัดจันทร์ อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ตนยึดอาชีพปั่นสามล้อมาตั้งแต่อายุ 17 ปี จนถึงปัจจุบันรวมแล้วขี่สามล้อมาแล้ว 50 ปี เริ่มตั้งแต่ค่าโดยสารครั้งละ 1-2 บาท ปัจจุบันค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 20-50 บาท ทุกวันจะมาจอดรอรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟพิษณุโลก ไปส่งตามท่ารถ โรงพยาบาล มีรายได้เฉลี่ยวันละ 100-200 บาท

จำนงค์ เล่าว่า ตนจบเพียง ป.4 สมัยนั้นพ่อให้ออกทำงาน ให้เงินมาซื้อสามล้อหนึ่งคัน ราคาแพงมาก ราคา 10,000 บาท รุ่นนั้นต้องมีใบขับขี่ด้วย และก็ยึดอาชีพนี้เรื่อยมา ออกวิ่งรับส่งเด็กนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ วิ่งรับผู้โดยสารทั่วไป ก็ทำอย่างนี้มาเรื่อยทุกวัน เป็นอาชีพสุจริตที่เลี้ยงครอบครัวจนส่งเรียนจบปริญญาทำงานมั่นคง ทุกวันนี้ก็ยังพอใจที่ออกมาปั่นบริการลูกค้า และจะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดแรง แต่พวกตนมีเคล็ดในการรักษาสุขภาพ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ร่างกายจึงแข็งแรง

“เดี๋ยวนี้มีไม่ถึง 100 คัน จากเคยมีถึง 4,000 คัน เขาเปลี่ยนอาชีพกันหมด ไปขี่สามล้อแดง มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขี่ไม่ไหวบ้าง ตายกันบ้าง ไม่มีเพิ่ม คนรุ่นใหม่ไม่มีใครมาคิดยึดอาชีพถีบสามล้อ” จำนงค์  กล่าว

 

หริ่ง  นุชโหมด อายุ 71 ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 60/2 ต.ในเมืองพิษณุโลก เล่าว่า ยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่อายุ 40 ปี เป็นอาชีพที่สบายใจ ทุกวันจอดที่สถานีรถไฟพิษณุโลก ทำงานครึ่งวัน ออกตีสี่ 11 โมงเช้ากลับบ้าน รายได้วันละ 100-300 บาท ตอนนั้นซื้อรถมือสองมา 3,500 บาท มือใหม่ราคาร่วม 10,000 บาท ปัจจุบันไม่มีการผลิตรถสามล้อถีบเพิ่มแล้ว มีแต่มือสอง

 

“คนที่มาทำอาชีพสามล้อถีบใหม่ ๆ เลยไม่มี มีแต่พวกยุคเก่า คนรุ่นใหม่ที่มาก็จะยึดอาชีพขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเลย กลางคืนคนรุ่นใหม่ถึงจะมาถีบสามล้อรับกรุ๊ปทัวร์ตามโรงแรมต่าง ๆ ส่วนพวกตนคนรุ่นเก่าที่ยังวิ่งรับผู้โดยสารทั่วไปก็เหลือไม่มาก ต่างก็อายุมากแล้ว แต่ผมเชื่อว่าสามล้อยังคงอยู่คู่เมืองพิษณุโลกอีกนาน ยังมีคนที่ยึดเป็นอาชีพที่สบายใจได้ เป็นอาชีพอิสระ ค่าโสหุ้ยก็ไม่แพง ไม่ต้องใช้น้ำมัน” นายหริ่ง กล่าว

 

สุวรรณ  บุญพงศ์ อายุ 62 ปี ภูมิลำเนาบ้านเลขที่ 92/2 ต.ในเมือง คิวสามล้อที่จอดรออยู่หน้าตลาดสดเทศบาล 6 เปิดเผยว่า ตนยึดอาชีพนี้มาได้ 30 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เคยขี่ในสุโขทัยแล้วย้ายมาถีบที่พิษณุโลก รายได้ไม่แน่นอน บางวันได้ไม่ถึงร้อยบาท บางวันก็ได้ 300 บาท กลางวันรอรับผู้โดยสารทั่วไป กลางคืนไปจอดรอคิวรับทัวร์ฝรั่งได้เที่ยวละ 100 บาท

 

“เป็นอาชีพสบายใจดี นึกจะหยุดก็หยุดได้ ไม่เป็นลูกจ้างใคร แต่คนรุ่นใหม่ไม่มีเข้ามายึดอาชีพนี้แล้ว คงมองว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย สามล้อบางคนก็ขี้เมา นอนข้างถนน ใครมาก็เรียกสามล้อ ๆ แต่สามล้อไม่ได้เป็นอย่างนั้นทุกคน ที่ขี้เมาเป็นภาพเพียงส่วนน้อย แต่ปลาเน่าตัวเดียว ก็เน่าเหม็นไปทั้งค่อง เด็กยุคใหม่ก็ไม่ชอบ เท่าที่เห็นไม่มีคนรุ่นใหม่มายึดอาชีพนี้เลย เคยเห็นเด็ดรุ่นใหม่มาขี่ วันไหนไม่ได้ลูกค้าก็ท้อแล้ว แต่พวกผมคนรุ่นเก่าไม่ท้อ และตราบใดที่ยังมีทัวร์ฝรั่งมา สามล้อก็ยังอยู่คู่เมืองพิษณุโลกไปอีกนาน แต่ถ้าไม่มีทัวร์ คงไม่เห็นภาพสามล้อแล้ว” สุวรรณ กล่าว  

 

ประมวล  อ่องพุ่ม อายุ 73  ปี ภูมิลำเนา 883/4 ต.ในเมืองพิษณุโลก อดีตข้าราชการบำนาญที่มายึดอาชีพนี้นับแต่ปลดเกษียณ เปิดเผยว่า พอเกษียณแล้วก็มายึดอาชีพนี้เลย เป็นอาชีพที่สบายใจ รายได้พออยู่ได้ ไม่ถึงรวย แต่ก็อยู่ได้ ลูกเต้าก็แยกย้ายไปมีครอบครัวกันหมด ทุกเดือนก็ส่งมาให้ แต่ตนร่างกายยังไหวอยู่ ไม่อยากว่างงาน รองหันมาถีบสามล้อ และก็ทำต่อเนื่องมาร่วม 20 ปีแล้ว

 

“สามล้อคงอยู่คู่เมืองพิษณุโลกอีกนานครับ ไม่มีหมด ตราบใดที่ยังมีผู้ใช้บริการและพวกตนยังมีเรี่ยวแรงอยู่ ก็ยังเห็นสามล้อวิ่งอยู่ ” ประมวล กล่าว

แสดงความคิดเห็น