ศิลปกรรมอาเซียนเส้นทางสู่สันติสุข

“งานด้านการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คือ งานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นต้นเหตุ ทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่น ๆ ทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป” พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓

    จึงกล่าวได้ว่า การศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม เป็นแก่นของสังคมและประเทศชาติ ซึ่งทางสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรม “การสัมมนาวิชาการด้านอารยธรรมและศิลปกรรมอาเซียนครั้งที่ ๑” ขึ้น โดยการสอดร้อยผสมผสานการศึกษาและวัฒนธรรมผ่านงานศิลปะ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่าง ๆ งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ประกอบด้วยการเสวนาวิชาการศิลปะกับประชาคมอาเซียน การปฏิบัติการทางศิลปะ (Workshop) และนิทรรศการผลงานศิลปกรรมของเหล่าศิลปินแห่งชาติ ศิลปินจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และไทย พร้อมด้วยศิลปินนานาชาติจากประเทศเนเธอร์แลนด์ รัสเซีย และญี่ปุ่น จำนวน ๕๐ คน

อันเนื่องมาจากการนำเสนองานศิลปะรูปแบบศิลปะเอ็กซเพรสชันนิสม์ หรือลัทธิแสดงพลังอารมณ์ อันแสดงถึงความแข็งแกร่ง ความท้าทาย และเสี่ยงตาย ของ Mr.Federico Dorazio จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้การเสวนาวิชาการศิลปะกับประชาคมอาเซียน เริ่มต้นด้วยคำคมของอาจารย์สุรชาติ เกษประสิทธิ์ ผู้ดำเนินการเสวนาที่ยกคำพูดของศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ เมธีวิจัยอาวุโส ที่กล่าวไว้ว่า “ศิลปะเป็นกิจกรรมที่ก่อกวนทางปัญญา” เพราะศิลปะหลุดไปจากกรอบที่เราเคยรู้จักว่าเป็นรูปเขียน รูปปั้น หรือรูปวาด ภาพพิมพ์ กลายเป็นกิจกรรมที่ก่อกวนทางปัญญา

นอกจากนี้ศิลปินผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอมุมมองและคุณค่าของศิลปะไว้อย่างหลากหลาย         อาจารย์ธงชัย รักปทุม…ผลงานศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคนี้ มีความแตกต่างหลากหลาย อันเนื่องมาจากการสื่อสารเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ดังนั้นจากเมื่อก่อนนี้ที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำงาน มีรูปแบบเฉพาะตน เฉพาะท้องถิ่น กลายเป็นการเรียนรู้กันมากขึ้น ทำให้เกิดผลงานที่เกิดจากการถ่ายทอดปัญญา ความคิด สังคมและวัฒนธรรมยุคใหม่ที่มีความหลากหลายและสร้างสรรค์นานัปการ

          อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน…ศิลปะไม่ได้อยู่ในจักรวาล โลกพระจันทร์ สหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ศิลปะนั้นอยู่ในมนุษย์ที่ประกอบไปด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ที่กล่าวไว้ว่า ศิลปะเป็นของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ ดังนั้นคุณค่าของศิลปะจึงอยู่ทั้งในส่วนของผู้ที่สร้างสรรค์งาน กับส่วนที่อยู่ในผู้ที่มาชื่นชม ทำให้เกิดคุณประโยชน์ที่เป็นความดี ความงาม และความจริง ซึ่งเป็นสาระสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เพราะว่าโดยปกติแล้ว มนุษย์จะมีธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในห้วงมหรรณพแห่งกิเลสและตัณหา กิจกรรมทางศิลปะจึงทำให้เกิดสิ่งที่ดี ที่งาม และความจริง และแพร่ออกไปสู่สังคม เพราะฉะนั้นสังคมใดก็ตามที่ศิลปะ สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ…

นนทิวรรธน์

          …กระบวนการทำงานศิลปะ ทำให้เกิดอิทธิบาท ๔ เริ่มต้นด้วยความรัก ความรักทำให้เราอยากจะทำ อยากจะเขียนรูป เราจึงมีความเพียร เป็นการทำงานที่มีความสุข เราไม่ได้ถูกบังคับให้ทำ มันก็ดำเนินไปตามวิถี ทุ่มเทความเพียร ทุ่มเทจิตใจ ใช้วงล้อความคิดนี้ต่อเนื่องมา นอกจากความสามารถที่จะทำงานด้วยความรักแล้ว เราต้องมีการวิเคราะห์ สร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้นมา เป็นการพัฒนาโดยวิถีของมัน…

อาจารย์พงษ์เดช ไชยคุตร..

          อาจารย์พงษ์เดช  ไชยคุตร…ศิลปะกว้างมาก สนุก มีเรื่องให้เล่นเยอะแยะ มองเป็นศิลปะได้หมด แต่ประเด็นก็คือ ต้องมีจรรยาบรรณ ต้องมีจริยธรรม ต้องมีขอบเขต ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมีความสำคัญมาก…

 

นอกจากการซึมซับคุณค่าและความสำคัญของศิลปะผ่านการเสวนาแล้ว ผู้เข้าร่วมงานยังได้ศึกษา สัมผัสกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการปฏิบัติการ ทั้งการวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เซรามิกและสื่อผสม เช่น

อาจารย์ธนดล ดีรุจิเจริญรังสรรค์ผลงานประติมากรรม “นางสาวอมรินทร์ ”โดยใช้เครื่องมือไฟฟ้าและสิ่วในการสกัดหินทรายสีแดง เป็นใบหน้าหญิงสาว

อาจารย์ธนดล ดีรุจิเจริญ

…วันแรกที่มาพิษณุโลกจะพยายามสังเกตใบหน้าของคนพื้นถิ่น สังเกตใบหน้าของคนในอดีตจากการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้า ตั้งใจว่าจะแกะเป็นรูปลักษณะ บุคลิกของคนดั้งเดิมในพื้นที่ บวกกับรายละเอียดอารมณ์บางอย่าง นั่นคือ ส่วนตัวชื่นชอบงานแกะหินของปราสาทบายนของนครธม ก็เลยนำมาผสมผสานกัน เช่น ปากจะกว้างและอิ่มมาก มีอารมณ์บางอย่างคล้ายงานของบายน ดวงตาที่ลึกเข้าไป ต้องการสื่อสารบางอย่างในด้านการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ทางความรู้สึกที่เราถูกถ่ายทอดมานาน มวยผมลักษณะก้นหอย ใช้ลักษณะของพื้นเพดั้งเดิม เกี่ยวกับก้นหอยที่พบได้จากเศียรพระพุทธรูป โดยนำลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้มาผสมผสานกับหินที่มีอยู่แล้ว…

Min Han Pyone (Thar Gyi) จากประเทศพม่ากับผลงานแนวใหม่ “Magic Shawl” และ “Magic Box” เป็นการใช้สีน้ำมันวาดเส้นให้มีความหนา แล้วใช้มีดแกะสลักกรีดให้เป็นริ้ว ตกแต่งด้วยไฟเบอร์ชนิดพิเศษ มีลักษณะคล้ายกระจกเงา ซึ่งเป็นเทคนิคที่สร้างขึ้นมาเอง

ศิลปินพม่า

 

จากการฟังเสวนาวิชาการ ชมปฏิบัติการทางศิลปะ ได้ให้มุมมองอันหลากหลายแก่ผู้ร่วมงาน

ณัฐนนท์ ภู่อริยพงศ์

นายณัฐนนท์ ภู่อริยพงศ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพป่าซาง จังหวัดลำพูน…ศิลปะมีขอบเขตที่กว้างมาก และมีความเป็นสากลอยู่แล้ว มากกว่าสาขาอื่น ๆ ด้วยซ้ำไป เหมือนศาสตร์หนึ่งที่รับรู้ความเป็นสากลได้ตรงกัน สังเกตดูว่าศิลปินมาจากประเทศต่าง ๆ เมื่อมีการสื่อกันด้วยศิลปะ มันมีความกลมกลืนกันได้โดยที่เป็นภาษาเดียวกัน โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ และจากการฟังเสวนาทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะไปบอกกับครูและลูกศิษย์ของเราว่า ให้สร้างสรรค์งานศิลปะ แล้วงานศิลปะนั้นจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้สังคมลดความขัดแย้ง โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อ เพราะหากคนในสังคมใช้ศิลปะเป็นตัวช่วย จะทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังได้รู้ทิศทางของศิลปะในอนาคต เราจะสอนศิลปะเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อเป็นศิลปินอย่างเดียว แต่สอนศิลปะเพื่อไปรับใช้สังคม ประยุกต์ใช้ บูรณาการใช้ในด้านต่าง ๆ อีกหลายรูปแบบ…

สุรชาติ

            นายอาณัติ เปลี่ยนอำรุง ปวช.๑ แผนกศิลปกรรม สาขาการออกแบบ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์…ได้เรียนรู้ว่า ศิลปะทำได้หลายสื่อ การใช้สื่อในการทำศิลปะมีมากมายหลายแขนง แต่จะคำนึงไว้ว่า การทำศิลปะต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม แล้วก็เรียนรู้ว่า การเรียน การสร้างศิลปะ หรือการที่จะเป็นศิลปินหรือคนดัง เขาตั้งใจที่จะทำ เกิดมาจากพรแสวง ความอดทนในการทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ ถึงจะน่าเบื่อ แต่หากไม่ทำเช่นนั้น เราก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ ที่จะเก่งอย่างคนอื่นได้ พรสวรรค์คือจุดเด่นที่เราทำขึ้นมาแล้วคนอื่นเขามองเห็น แต่หากไม่มีพรแสวง ก็ไม่สามารถเป็นคนดีหรือคนดังได้…

อาณัติ

           

จาก ๒ วันของการปฏิบัติการทางศิลปะ ได้มีการต่อยอดด้วยการเผยแพร่สู่สาธารณชน นั่นคือการจัดนิทรรศการผลงานศิลปกรรมนานาชาติ (อาเซียน) ตั้งแต่วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ – ๘ มกราคม ๒๕๕๕ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยนเรศวร (ส่วนสนามบิน) กับผลงานวาดเส้น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เซรามิกและสื่อผสม ของศิลปิน รวม

สุภาวดี

ทั้งสิ้น ๗๗ ชิ้น

…หนูก็วาดรูปอยู่แล้ว เมื่อได้เห็นผลงานต่าง ๆ อยากจะนำผลงานเหล่านี้ไปปรับใช้กับตัวเองให้มีฝีมือมากขึ้น ทำให้หนูมีจุดหมายว่า สักวันหนูจะต้องมีหนึ่งภาพจัดแสดงอยู่ที่นี่ให้ได้…เด็กหญิงสุภาวดี มั่นชาวนา ม.๓ โรงเรียนวังทองพิทยาคม จังหวัดพิษณุโลก

 

การสัมมนาวิชาการด้านอารยธรรมและศิลปกรรมอาเซียนครั้งที่ ๑ ได้เปิดโลกทัศน์ ก่อเกิดคุณค่า และวิธีคิดอันหลากหลาย ทั้งยังสร้างความสุข ความรื่นรมย์ และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ นอกจากนี้ศิลปะยังเป็นเสมือนทูตที่ทำหน้าที่สื่อสาร สร้างสัมพันธ์ในทุกกลุ่มชน ทุกชนชาติ ดังคำให้สัมภาษณ์ของศาสตราจารย์เดชา วราชุน   

…ศิลปะไม่เคยมีความขัดแย้ง ไม่มีพิษมีภัย ไม่เคยมีการทะเลาะ ไม่เคยมีสงคราม ศิลปะสร้างความงดงามให้กับโลก เป็นตัวเชื่อมโยงทุก ๆ ฝ่ายได้อย่างดี เราไม่ใช้ศิลปะเป็นสงคราม เราใช้ศิลปะเพื่อความสงบ…

มาร่วมกันสร้างคุณค่าและความงดงามให้สังคมและโลกของเรา ด้วยการจุดประกายศิลปะให้เกิดขึ้นในหัวใจ

 

รายงานสกู๊ฟโดย……พรปวีณ์  ทองด้วง นักประชาสัมพันธ์

สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัย

แสดงความคิดเห็น