ท่วม-แล้ง …ซ้ำซาก

วิถีบางระกำยังเหมือนเดิมทุกประการ แม้นายกรัฐมนตรีจะยกให้จ.พิษณุโลกนำร่องในการแก้ไขน้ำท่วม-ภัยแล้งแบบเชิงบูรณาการ หลังระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากทุ่งหมดแล้ว ชาวนาต้องเร่งทำนาปรังรอบแรกและรอบสองให้ทัน ก่อนน้ำจะกลับมาท่วมอีกครั้งในปีหน้าราว ๆ เดือนสิงหาคมปีหน้า ที่ชาวบางระกำได้แต่คาดว่า บางระกำโมเดล คือโอกาสของชาวบางระกำในการพัฒนาแก้ไขระบบต่าง ๆ เพื่อให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่หลุดพ้นวงจรระกำซ้ำซาก

ปี 2554 เป็นปีที่ฝนตกหนักมากที่สุด และเกิดน้ำท่วมขังและท่วมนานมากที่สุดในจังหวัดพิษณุโลกและพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก พื้นที่น้ำท่วมที่ขึ้นชื่อมากที่สุดของพิษณุโลกแม่น้ำยมเริ่มไหลล้นตลิ่งจากจ.สุโขทัยและบ่าทุ่งมาท่วมพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายวงกว้างตั้งแต่กรกฏาคม 2554 และน้ำได้ท่วมขัง สูง และขังนานมากที่สุดนับแต่จดบันทึกสถิติมา จนมาระบายน้ำที่ท่วมทุ่งหยดสุดท้ายลงสู่แม่น้ำยมได้ใน 15 พฤศจิกายน 2554

น้ำท่วมบางระกำปีนี้ เป็นปีที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและหน่วยงานราชการมากที่สุด เมื่อน.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งแบบบูรณาการ ในชื่อสวยหรู บางระกำโมเดล นายกรัฐมนตรี พร้อมเดินทางมาเปิดศูนย์บางระกำโมเดล เมื่อสิงหาคม 2554 ได้ระดมหน่วยงานราชการลงมาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม วางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในปีหน้า

 

แต่หลังน้ำลด บางระกำก็ยังเป็นบางระกำ ชาวบ้าน เกษตรกรชาวนา ก็ยังคงต้องดำเนินวิถีชีวิตเดิม ๆ ศัพท์สวยหรู บางระกำโมเดล ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงทีแน่นอน หลังน้ำลดจนหมดท้องทุ่งบางระกำ สิ่งแรกที่ชาวบางระกำเร่งดำเนินการคือต้องลงมือปลูกข้าวนาปรังรอบแรกให้เร็วที่สุด เพื่อจะเก็บเกี่ยวได้ทันในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า จากนั้นก็จะต้องเร่งปลูกข้าวนาปรังรอบที่สองต่อทันทีในเดือนเมษายน เพื่อเก็บเกี่ยวให้ทันในเดือนกรกฏาคมปีหน้า ก่อนที่นำยมจะไหลบ่ามาท่วมในช่วงสิงหาคมและท่วมยาวไปจนถึงพฤศจิกายน

 

เป็นวัฏจักรอย่างนี้มาทุก ๆ ปี และเช่นเคยปีนี้ แหล่งน้ำในการทำนาก็เป็นปัจจัยหลัก น้ำที่เคยท่วมขังสูง 4-5 เมตรในท้องทุ่ง น้ำที่เคยล้นแม่น้ำยมในเดือนธันวาคมนี้ได้กลายสภาพแห้งเหือด แหล่งน้ำหลัก ๆ ในการทำนา มาจากคลองซอยต่าง ๆ ที่ไหลผ่าน เช่น คลองเมม คลองบางแก้ว คลองวังแร่ และแม่น้ำยม จะถูกกักเก็บและดึงเข้ามาใช้ทำนา ส่วนชาวนาในพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำธรรมชาติก็ต้องพึ่งตนเอง โดยใช้น้ำจากบ่อบาดาล ใช้น้ำทำนาทั้งสองรอบตลอดฤดูหนาวและแล้งนี้

 

ที่ประตูน้ำคลองบางแก้ว เมื่อ 15 ธันวาคม 2554 ม.7 ต.บางระกำ อ.บางระกำ ชาวบ้านหลายหมู่บ้านในอ.บางระกำ มาช่วยกันเก็บเศษสวะที่ขวางประตูน้ำ เพื่อให้ชลประทานได้ปิดประตูน้ำให้สนิท เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำนาในช่วงตลอดฤดูแล้ง และเมื่อย้อนหลังไปช่วงหน้าฝนในเดือนกรกฏาคมปีเดียวกัน ชาวบ้าน ชาวนาบางระกำอีกนี่แหละ ก็ต้องมารวมตัวกันเก็บเศษสวะที่ขวางประตูน้ำ เพื่อยกบานประตูขึ้น ให้ระบายน้ำจากคลองบางแก้ว ออกสู่แม่น้ำยม เนื่องจากน้ำกำลังจะเอ่อท่วมนาข้าว

นาย สายยนต์ ทับแผลง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เปิดเผยว่า หลังจากที่ชาวอำบางระกำ ถูกน้ำท่วมขังมานานกว่า 3 เดือน หลังจากสถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ได้ลงมือไถนาและปลูกชาวบ้านไปบ้างแล้วแต่ปัญหาที่ตามมาน้ำที่จะใช่ทำนานั้น เริ่มไม่เพียงพอ น้ำในคลองบางแก้วที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญเริ่มมีปริมาณลดลง อย่างรวดเร็ว  ในวันนี้ จึงได้รวมตัวกันมาช่วยกันทำความสะอาดบริเวณบานประตูระบายน้ำบางแก้ว พบว่ามีเศษขยะจำนวนมากทำให้ประตูระบายน้ำชำรุดไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ ในการเกษตรได้ในฤดูแล้ง ชาวบ้านจึงรวมตัวกันมาให้เจ้าหน้าที่ชลประทานตรวจสอบประตูระบายน้ำ และจะได้ช่วยกันซ่อมแซมและทำความสะอาด เพื่อปิดน้ำไว้ใช้ในการทำนาตลอดฤดูกาลนี้

 

นายสายยนต์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ถือว่าประสบปัญหาภัยแล้งเร็วกว่าทุกปี เพราะหลังจากที่น้ำท่วมขังมานานหลายเดือน พอน้ำลดชาวบางระกำก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ได้เลยทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งทุกปีตนเองและชาวบ้านจะมาตรวจสภาพประตูระบายน้ำบางแก้วประมาณ กลางเดือนมกราคม แต่ปีนี้น้ำลดลงเร็วมาจึงต้องรีบมาตรวจเช็คเพราะเกรงว่า ประตูน้ำดังกล่าวจะชำรุดและไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งได้  จึงได้รวมตัวกันมาซ่อมแซมและทำความสะอาดดังกล่าว

 

นางสำลี แจ่มดี อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ 2 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งทำนาเกือบ 20 ไร่ ลงทุนเจาะบ่อบาดาลลึกกว่า 3 เมตร และ บ่อสเมิบ เป็นบ่อสูบน้ำไฟฟ้า อีก 1 เครื่อง เพื่อหวังดึงน้ำเข้าสู่ที่นาให้เพียงพอต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมที่บางระกำลดลง ชาวบ้านก็เริ่มที่จะทำนาเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ แต่ก็ต้องมาเจอกับปัญหาน้ำแล้งต่ออีก

 

นางสำลี กล่าวว่า หลังจากน้ำลดชาวบ้านก็เริ่มทำนากันแต่ปรากฎว่า น้ำในแม่น้ำยมลดลงอย่างรวดเร็วทำให้น้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ในการทำนา จึงลงทุนเจาะบ่อบาดาลลึกกว่า 3 เมตร และ บ่อสเมิบ เป็นบ่อสูบน้ำไฟฟ้า อีก 1 เครื่อง เพื่อดึงน้ำเข้าสู่ที่นา โดยเสียค่าน้ำมันเดือนละ 1 แกลอน ๆ ละ 200 ลิตร ค่าไฟฟ้า เดือนละ 1,700-2,000 บาท ค่าปุ๋ย ค่ายา ก็ถือว่าต้นทุนในการทำนาสูงอยู่แต่อย่างไรก็ต้องทำเพราะหาเลี้ยงปากท้อง

 

นายบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ได้เตรียมแผนการจัดสรรน้ำสำหรับช่วยพื้นที่เกษตร( นาข้าว ) ในพื้นที่อ.บางระกำ อ.พรหมพิราม และอ.เมืองพิษณุโลก ( บางส่วน ) อ.กงไกรลาศ จ.สุขัทย โดยการผันน้ำจากแม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง ลงมาช่วยพื้นที่เหล่านี้ในการทำนาปรังทั้งสองรอบ และต้องเข้าใจว่า พื้นที่เหล่านี้ ในช่วงหน้าฝนอาจจะเห็นว่ามีน้ำท่วมขังสูงและท่วมขังนานมาก โดยส่วนใหญ่เป็นที่น้ำท่วมนาข้าว และเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ชลประทานต้องช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังเหล่านี้ออกสู่แม่น้ำยม เพื่อให้ชาวนาได้เริ่มทำนาปรังรอบแรก และสามารถทำนาปรังรอบที่สองได้ทัน ก่อนที่จะประสบภาวะน้ำท่วมอีก

และเมื่อเริ่มทำนาปรังรอบแรก พื้นที่เหล่านี้ก็จะประสบปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนา ปีนี้ ชลประทานวางแผนไว้ว่า จะผันน้ำจากแม่น้ำน่าน ผ่านสู่คลองเมม คลองบางแก้ว เพื่อช่วยพื้นที่ทำนาในฤดูแล้งในพิษณุโลก 3 อำเภอ และกงไกรลาศ จ.สุโขทัยอีก 1 อำเภอ คิดเป็นปริมาณน้ำ 140 ล้านลบ.ม. จะสามารถช่วยพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานได้ประมาณ 300,000 ไร่ และอีกจุดหนึ่งคือตำบลด้านทิศตะวันออกของอำเภอบางระกำ ได้แก่ ต. หนองกุลา ต.นิคมพัฒนา ต.บึงกอก ต.พันเสา ต.ชุมแสงสงคราม และต.บางระกำบางส่วน ได้วางแผนผันน้ำจากแม่น้ำปิง จากจ.กำแพงเพชร ผ่านโครงการชลประทานท่อทองแดง จะช่วยพื้นที่นานอกเขตชลประทานตลอดฤดูแล้งได้ 80,000 ไร่

 

นายบรรดิษฐ์ เผยต่อว่า ปีนี้น้ำต้นทุนเขื่อนสิริกิติ์มีมาก ยังเหลือน้ำกักเก็บประมาณ 95 % อาจจะขอการจัดสรรน้ำจากแม่น้ำน่านช่วยพื้นที่เกษตรในอ.บางระกำ อ.พรหมพิราม เพิ่มอีกเป็น 180 -190 ล้านลบ.ม. จากทุกปีจะใช้น้ำประมาณ 140 ล้านลบ.ม.  เนื่องจากต้องช่วยชาวนา ที่สูญเสียรายได้จากท่วมใหญ่ปีนี้ และคาดว่าชาวนาจะทำการปลูกข้าวนาปรังทั้งสองรอบอย่างเต็มพื้นที่ เพื่อชดเชยรายได้ที่สูญไปจากน้ำท่วมครั้งก่อน

สำหรับบางระกำโมเดล ที่คิดจากบนลงล่างโดยภาครัฐ มุ่งหวังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งอย่างเป็นระบบนั้น ชาวบางระกำในระดับรากหญ้าจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจถึงแนวทางที่แน่ชัด สิ่งที่สัมผัสและจับต้องได้ช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา คือ การระดมความช่วยเข้ามามากกว่าน้ำท่วมทุกปีที่ผ่านมา การจ่ายเงินชดเชยพื้นที่เกษตรเสียหายและบ้านถูกน้ำท่วม เร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่จะคาดหวังว่าระยะต่อไปจะแก้ไขน้ำท่วมภัยแล้งอย่างไรนั้น

ที่ผ่านมาชาวบ้านตำบลบางระกำได้ทำประชาคมประชาชนกว่า 4,000 ครัวเรือน มีข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในอ.บางระกำ 3 ประการ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นบางระกำโมเดลแล้ว ได้แก่ 1.ทำอย่างไรต่อไปนี้ น้ำจะท่วมอ.บางระกำเมื่อถึงเวลาอันควร ประชาชนมีเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทัน ภาครัฐต้องไปคิดและบริหารจัดการ ช่วงเดือนกรกฏาคม-สิงหาคม น้ำต้องไม่เต็มทุ่ง 2.ค่าระดับการท่วมต้องไม่ท่วมมโหฬารแบบนี้ แบบน้ำมิดฟ้ามิดแผ่นดิน จะบังคับด้วยวิธีwater way หรือ อะไรก็แล้วแต่ และต้องมีการระบายน้ำออกอย่างเหมาะสมในเวลาอันที่ควร เพราะช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าว ต้องมีน้ำบางส่วนอยู่ในแม่น้ำยม 3.หลังน้ำท่วม คนบางระกำจะเหลืออะไรจากน้ำท่วมก้อนใหญ่ จะมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอย่างไร เรื่องนี้ภาครัฐก็ต้องขับเคลื่อน จะเป็นเหมือง ฝาย หรือแก้มลิง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการจากบางระกำโมเดล และยังคาดหวังว่าบางระกำโมเดลไม่ใช่เริ่มต้นวันนี้แล้วก็จบไป

ทีมข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์/รายงาน

แสดงความคิดเห็น