ผู้ช่วยศาสตราจารย์มนูญ เมฆอรุณกมล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งที่ 28 “หิรัญญิการ์เกมส์” ณ สนามกีฬาภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก ในช่วงค่ำของวันที่ 6 ธันวาคม 2554 สำหรับการแข่งขันกำหนดจัดระหว่างวันที่ 6 -11 ธันวาคม 2554 มีทัพนักกีฬาซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 6 แห่ง คือ ภาคพายัพ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย น่าน ตาก และ พิษณุโลก เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนกว่า 1,200 คน แข่งขันกีฬาทั้งสิ้น 12 ชนิด ประกอบด้วย ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล เปตอง เทเบิลเทนนิส เทนนิส แบดมินตัน เซปัคตะกร้อ ตะกร้อลอดห่วง หมากกระดาน และ กรีฑา
ในพิธีเปิดการแข่งขัน ได้รับเกียรติจากองค์กรภารัฐและเอกชน อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก , สามาคมศิษย์เก่าเกษตรบ้านกร่าง , หจก.มุ่ยเฮง รุ่งเรือง , เมืองธรรมการไฟฟ้า , องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก , การกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก , ศูนย์ท่องเที่ยว กีฬาและนัทนนาการ จังหวัดพิษณุโลก , มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม , สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตสุโขทัย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกร่าง , กำนันตำบลบ้านกร่าง , สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก , สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดพิษณุโลก , สมาคมสื่อสารมวลชนพิษณุโลก , บริษัท เอ็ม.เอส.เอส. เคเบิล ทีวี จำกัด (สาขาพิษณุโลก) , บริษัท ดับบลิว วาย เคเบิล เน็ตเวิร์ค จำกัด ให้การสนับสนุนในการจัดการแข่งขัน ครั้งนี้
โดยการแข่งขัน กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ราชมงคลล้านนาเกมส์) ครั้งที่ 28 ใช้ชื่อว่า “หิรัญญิการ์เกมส์” มีรูปแบบสัญลักษณ์ เป็นคบเพลิง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขันกีฬา ในการจุดเริ่มต้นการแข่งขันและดับลงเมื่อสิ้นสุด โดยคบเพลิงของการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย ดอกหิรัญญิการ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก เจ้าภาพการแข่งขันกีฬา ครั้งนี้ กลางเปลวไฟ มีเลข 28 แทนการแข่งขันกีฬา ราชมงคลล้านนาเกมส์ ครั้งที่ 28 แถบสี 6 สี ที่คาดบนคบเพลิง เป็นสีประจำของ 6 แห่ง ได้แก่ สีแดง – เชียงราย , สีเทา – ภาคพายัพ เชียงใหม่ , สีม่วง – ลำปาง , สีเหลือง – น่าน , สีน้ำเงิน – ตาก และ สีเขียว – พิษณุโลก
สัญลักษณ์นำโชค คือ ไก่แก้ว หรือ “ไก่เหลืองหางขาวไก่เจ้าเลี้ยง” ชาวพิษณุโลกได้ยินได้พูดคำคล้องจองนี้มาตั้งแต่โบราณกาล ความเก่งของไก่เหลืองหางขาวเป็นที่ยอมรับของนักเลงไก่ทั่วไป ในทุกพื้นที่ที่มีการเล่นไก่ชน ไก่เหลืองหางขาวมักจะเป็นตัวเอกทุกๆ สังเวียนอยู่เสมอ หรือแทบจะเรียกได้ว่าไก่พันธุ์นี้อยู่ในความครอบครองของนักเลงไก่อยู่เสมอ ไก่เหลืองหางขาวจัดว่าเป็นไก่ที่มีสกุลและมีลักษณะเด่นมาก จากประวัติฝีมือความสามารถ ด้วยเหตุนี้ จึงได้นำมาเป็นสัญลักษณ์นำโชคในการแข่งขัน กีฬามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ครั้งที่ 28 “หิรัญญิการ์เกมส์” ใช้ชื่อว่า “ไก่แก้ว” ต้องการสื่อความ หมายถึง การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความยินดี เป็นสัญลักษณ์ของตำบลบ้านกร่าง ที่สร้างความภาคภูมิใจนับสมัยอดีตกาลจนถึงปัจจุบัน มีความเก่ง ความสามารถ มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ เปรียบเสมือนนักกีฬาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย