ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมของทุกปี ลูกสุนัขพันธุ์บางแก้วที่เพาะเลี้ยงตามคอกต่าง ๆ ในพิษณุโลกเริ่มออกสู่ตลาด ยิ่งริมถนนเส้นสีหราชเดโชชัยด้วยแล้ว จะเห็นตั้งกรงขายลูกสุนัขเป็นของฝากจากเมืองพิษณุโลกหลายสิบเจ้า กว่าสุนัขพันธ์บางแก้วจะกลายมาเป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อของจังหวัดพิษณุโลกได้ขนาดนี้ ใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์ไม่ใช่น้อย
สุนัขไทย พันธุ์บางแก้ว มีถิ่นกำเนิด ณ วัดบางแก้ว บ้านบางแก้ว ตำบลท่านางงาม ชื่อเดิม “ตำบลบางแก้ว” อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก อดีตเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมามาแล้ว ขณะที่หลวงปู่มาก เมธารี มีชีวิตอยู่และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ชาวบ้านบางแก้วรายหนึ่งได้นำสุนัขพันธุ์ไทย พื้นบ้านเพศเมียสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ถวายให้แก่ท่านหลวงปู่มากเลี้ยงอยู่ในวัด ต่อมาสุนัขเติบโตขึ้นถึงวัยผสมพันธุ์ ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทึบบริเวณใกล้ๆกับวัดบางแก้ว ถือเป็นจุดกำเนิด “สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว” ที่ได้สืบทอดสายพันธุ์ มาจนถึงทุกวันนี้
สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วเป็นที่รู้จักแพร่หลายและเลี้ยงกันทั่วภาคของประเทศไทย สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของสุนัขบางแก้ว คือ สวย ฉลาด ซื่อสัตย์ รักเจ้าของเป็นจุดเด่น เฝ้าบ้านหรือฝึกใช้งานอารักขาได้ แม้ว่าเดิมทีสายพันธุ์ค่อนข้างดุ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีนิสัยเข้าคนได้ง่าย ไม่ดุง่าย เป็นสุนัขของครอบครัว
นายพิชัย คำสุวรรณ เจ้าของคอกปาล์มเพรส ผู้เพาะเลี้ยงสุนัขบางแก้วในพิษณุโลก กล่าวว่า มีการพัฒนาจิตประสาทแก่สุนัขไทยบางแก้ว ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ และการเลี้ยงดูที่เอาใจใส่ออกสังคมบ่อบ ๆ ทำให้ขณะนี้สุนัขบางแก้วจำนวนมากที่ออกสู่ท้องตลาดสามารถเข้ากับคนให้ง่าย จิตประสาทนิ่ง ไม่โหดร้าย สามารถให้ผู้อื่นเลี้ยง แต่คงความรักเจ้าของเป็นทุนเดิม
สุนัขไทยบางแก้วเป็นสุนัขไทยพันธุ์หนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่บ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก สร้างชื่อเสียงแก่ จ.พิษณุโลก มาช้านาน ปัจจุบันหลายจังหวัดดำเนินการเผยแพร่และจำหน่ายหมาบางแก้วออกสู่ตลาดในวงกว้าง
สุนัขบางแก้วแท้ต้องตรงตามเกณฑ์ เป็นสุนัขขนาดกลาง มาตรฐาน 3 สี คือ ขาว-ดำ ขาว-น้ำตาล และขาว-เทาโครงสร้างสี่เหลี่ยมจัตรัส สัดส่วนที่กลมกลืน เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว พฤติกรรมตื่นตัว ร่าเริง รักเจ้าของ เชื่อมั่นใจต้วเอง จิตประสาทมั่นคง ไม่ขลาดกลัว ซื่อสัตว์ หวงแหนทรัพย์สิน ฉลาด กล้าหาญ ฝึกใช้งานได้
สีมาตรฐานใน 3 สี คือ ขาว-ดำ ขาว-น้ำตาล และขาว-เทา ตามลักษณะเด่น คือ หัวกะโหลกค่อนข้างใหญ่, จมูกสีดำได้สัดส่วนกับปาก, ปากยาวปานกลาง โคนปากใหญ่เรียวจรดปลายจมูก, ริมฝีปากแนบสนิท สีเข้ม, ปากคาบแก้ว, สต็อปมีมุมหักเล็กน้อย, ขากรรไกร ขบกันสนิท, ฟันเล็กแหลมคม สุนัขโตควรครบ 42 ซี่, ตาเล็ก เหมือนเม็ดอัลมอนด์ สีดำหรือน้ำตาล, หูสามเหลี่ยมตั้งป้องไปข้างหน้า, คอใหญ่ล่ำสัน แผงขนยาวรอบ, หลังเส้นตรง, ขาหน้าใหญ่กว่าขาหลัง, ขาหลังมีขนยางคล้ายแข้งสิงห์, อุ้งเท้ากลมคล้ายอุ้งเท้าแม้ว ขนคลุมนิ้วเท้า, ขนหางเป็นพวง-โคนหางใหญ่
ข้อบกพร่อง คือ ตาหรือ จมูกสีอ่อน ห่างไพล่ ไม่มีแผนขนรอบคอ ไม่มีแข้งสิงห์ หูใหญ ปากใหญ่ ตากลมโต หลังโก่ง หลังแอ่น
สำหรับลูกสุนัขที่สามารถจำหน่ายได้ราคาแพงๆเกินหมื่นบาทนั้น เป็นเพราะตลาดมีความต้องการ สายพันธุ์บางแก้วที่นิ่ง ไม่มีความดุร้ายเหมือนในอดีต สามารถเข้ากันคนอื่นได้ สามารถวิ่งโชว์ในสนามประกวดได้ ส่วนสุนัขที่ไม่ได้มาตรฐานหรือราคาไม่กี่พันบาท จะต้องดูว่า มีใบรับรองเพดดีกรีหรือไม่ ส่วนสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วพิษณุโลกจะไม่เน้นจำหน่ายลูกสุนัขมากๆ แต่เน้นพัฒนาลักษณะเด่นตามเกณฑ์มากกว่า เพื่อพัฒนาฟาร์มสุนัขของสมาคมฯให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในจังหวัดพิษณุโลก คือ ไม่ดุร้าย ลดความก้าวร้าว คงไว้ที่ความซื่อสัตย์และรักเจ้าของ
สุนัขพันธุ์บางแก้วนอกจากนิยมเลี้ยงเพาะพันธุ์กันมากในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ในเอเชีย สมาพันธุ์สุนัขเอเชีย หรือ AKU หรือ (Asia kennel union) ให้การยอมรับ และปัจจุบัน สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย ได้นำสุนัขบางแก้วขอขึ้นทะเบียนกับสมาพันธุ์สุนัขโลก หลังจากที่นานาชาติให้การยอมรับสุนัขพันธุไทยหลังอานมาแล้ว 1 สายพันธุ์ โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ให้นิ่งตามลักษณะ 5 ชั้นหรือ 5 โคตรเพื่อเข้าเกณฑ์และขึ้นทะเบียนสุนัขโลก ให้ได้ตาม ที่สมาพันธ์สุนัขโลก หรือ FCI หรือ Federation Cynologique International ได้กำหนดไว้ สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วพยายามพัฒนาให้นิ่ง โดยเฉพาะจิตประสาทและลดความกร้าวของสุนัขในพ่อพันธุ์บางแก้ว และพัฒนาโครงสร้างของสุนัข
และกว่าที่สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วจะเป็นสัตว์เลี่ยงคู่บ้านคู่เมืองขึ้นทำเนียบสุนัขยอดนิยมของไทยนั้น มีที่มาที่ไปยาวนาน มีสองปัจจัยหลักที่สร้างให้เป็นสุนัขบางแก้วในปัจจุบันคือ ธรรมชาติ และมนุษย์
“ธรรมชาติ” คือสภาพแวดล้อมของถิ่นกำเนิดบ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ที่อยู่ติดแม่น้ำยมสายเก่า หรือ คลองบางแก้ว เมื่อ 100 ปีก่อน ที่วัดบางแก้ว หลวงปู่มาก เมธารี ( เกิดปี 2424 ที่จังหวัดอยุธยา ย้ายมาอยู่บ้านบางแก้วตามบิดา-มารดา บวชที่วัดบ้านกร่าง ร่ำเรียนศาสนาหลายจังหวัดและย้ายกลับมาจำอยู่ที่วัดบ้างแก้ว จนขึ้นเป็นเจ้าอาวาส มรณภาพเมื่อ 28 ตุลาคม 2504 อายุ 81 ปี 61 พรรษา )มีชีวิตอยู่และเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ชาวบ้านบางแก้วรายหนึ่งได้นำสุนัขพันธุ์ไทย พื้นบ้านเพศเมียสีดำ ขนาดค่อนข้างใหญ่ถวายให้แก่ท่านหลวงปู่มากเลี้ยงอยู่ในวัด หลวงปู่มากเป็นพระใจบุญ เลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ต่อมาสุนัขเติบโตขึ้นถึงวัยผสมพันธุ์ ได้ผสมพันธุ์กับสุนัขป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทึบบริเวณใกล้ๆกับวัดบางแก้ว ถือเป็นจุดกำเนิด “สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้ว”
ทูล อินทรีย์ อดีตป่าไม้จังหวัดพิษณุโลกเล่าว่า สมัยนั้นรอบ ๆ วัดบางแก้วเป็นป่ารกชัฏ หมาป่าในเมืองไทยที่พบในเขตอ.บางระกำมี 2 สายพันธุ์ คือ หมาจอก หรือ หมาจอกวอ เป็นหมาขนาดเล็ก หางเป็นพวง อยู่เป็นฝูง ปราดเปรียว ชอบขุดโพรงอยู่ตามที่ดอน หัวคันนา และหมาโจ๋ หรือ หมาแดง หรือ หมาใน เป็นหมาใหญ่ หัวกลม ปากแหลม ฟันคม ขนสีน้ำตาล ลำตัวยาว ขายาว วิ่งปราดเปรียวแข็งแรงมาก พื้นที่ต.ชุมแสงสงคราม และต.ท่านางงาม อ.บางระกำช่วง 50-100 ปีที่ผ่านมา มีคลองบางแก้วไหลผ่าน ตอนล่างเป็นป่าพรุ น้ำท่วมขังเกือบตลอดปี ตอนบนเป็นป่าเต็งรังหรือป่าแดง ยาวขึ้นไปถึงอ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย จนถึงอุตรดิตถ์ ฟากตะวันตกของแม่น้ำยมเป็นโครงป่าสักของกรมป่าไม้โครงการที่ 33 แนวเขตติดต่ออ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย อ.สามง่าม อ.โพทะเล จ.พิจิตรและอ.บางระกำจ.พิษณุโลก ด้วยพื้นที่ป่าที่ต่อเนื่องกันเช่นนี้ ทำให้ฝูงหมาป่าทั้งสองสายพันธุ์มีแนวหากินกว้างมาก ( ปัจจุบันไม่มีสภาพป่าหลงเหลืออยู่แล้ว เป็นพื้นที่การเกษตรเกือบทั้งหมด ) เมื่อหลวงปู่มากชอบเลี้ยงหมามาก และรอบวัดเป็นป่า ทำให้หมาพื้นเมืองที่เลี้ยงไว้ไปเกิดผสมพันธุ์กับหมาป่าบริเวณนั้น จนเกิดหมาพันธุ์ลูกผสมขึ้นมาใหม่
และด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านบางแก้ว เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก น้ำเต็มท้องนาและใต้ถุนบ้านเรือน ทำให้สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วอาศัยอยู่ภายในบ้าน ในเรือนแพ ไม่สามารถออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะเข้าฤดูผสมพันธุ์ในหน้าฝน สุนัขบางแก้วย่อมผสมพันธุ์กันเอง จนสายพันธุ์แทบนิ่ง ถูกปิดกั้นเหมือนติดเกาะอยู่กับแพ การผสมพันธุ์ที่เริ่มนิ่งกลายเป็นสายพันธุ์เด่นเป็นหมาบางแก้วในปัจจุบัน
“มนุษย์” นอกเหนือจากหลวงปู่มากแล้ว นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ อดีตปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ( เกษียณปี 2546 ) นับเป็นผู้ที่บุกเบิกพัฒนาทำให้บางแก้วเป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน
นิสิต ตั้งตระการพงษ์ เขียนไว้ในหนังสือ”หมาบางแก้ว สัตว์คู่บ้านคู่เมืองสองแคว” ( 2546 ) ระบุว่า ปี 2514 ได้ย้ายมารับราชการที่สถานีตรวจและรักษาโรคสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ( ปัจจุบันเป็นสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 6 ) ได้รักษาหมาบางแก้วที่เจ็บป่วยเป็นประจำจากนั้นก็ได้ยินสิ่งที่ชาวเมืองพิษณุโลกพูดถึงเกี่ยวกับของดีเมืองพิษณุโลกบ่อยครั้งคือ “หลวงพ่อพระพุทธชินราช พระนางพญา หมาบางแก้ว”
เมื่อก่อนการซื้อหาหมาบางแก้วมาเลี้ยงค่อนข้างยาก ต้องนั่งเรือไปที่บ้านบางแก้ว หรือ บ้านวังแร่ เพราะไม่มีถนน แถมขอซื้อก็ไม่ขาย ต้องเอาปืนลูกซอง 1 กล่อง ไปแลกกับลูกบางแก้ว 1 ตัว จากนั้นก็นำมาเลี้ยงที่บ้าน เพื่อศึกษานิสัยใจคอ และแพร่พันธุ์ให้เพื่อน ๆ เลี้ยง จึงเริ่มคุยกันในหมู่ผู้เลี้ยงจึงเริ่มประกวดหมาบางแก้วครั้งแรกเมื่อปี 2523 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ประกวดประเภทพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ ในปี 2526 ได้ของบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ( นายสืบ รอดประเสริฐ ) มาอนุรักษ์หมาบางแก้ว เริ่มแรกทีเดียวจะดำเนินการที่บ้านบางแก้ว ต.ท่านางงาม แต่เวลานั้นหาคนสนใจได้น้อยมาก จึงเปลี่ยนมาที่บ้านชุมแสง หมู่ที่ 2 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ที่อยู่ใกล้กัน มีผู้ใหญ่ประเทือง คงเจริญ ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาหมาบางแก้วแห่งแรกในประเทศไทยและของโลก มีชาวบ้านให้ความสนใจมาประชุม ปศุสัตว์ได้ให้ความรู้เรื่องการเลี้ยง การผสมพันธุ์ การจดทะเบียน การป้องกันโรค ตลอดจนด้านการตลาด ครั้งนั้นได้ขึ้นทะเบียนพ่อพันธุ์บางแก้วไว้ 25 ตัว แม่พันธุ์ 60 ตัว นอกนั้น ทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ไม่เข้าลักษณะพันธุ์ดีได้จับตอนหมด ไม่นานหมาบางแก้วก็เริ่มดัง โดยเฉพาะขึ้นชื่อเรื่องความดุ หวงและรักเจ้าของ
จากนั้น ปศุสัตว์ได้จัดการประกวดสุนัขบางแก้วเป็นประจำทุกปี ในงานกาชาดและงานนเรศวร ช่วงเดือนมกราคม ช่วงแรกต้องเกณฑ์ชาวบ้านให้นำหมามาเข้าร่วมประกวด ตั้งลักษณะเด่น 4 อย่าง คือ” ขนยาว ปากแหลม หูตั้ง หางเป็นพวง” เป็นการคัดเลือกสายพันธุ์ดีไปในตัว กระทั่งหมาบางแก้วเริ่มดัง คนเริ่มหาซื้อลูกหมาไปเลี้ยง จึงเริ่มนิยมตั้งฟาร์มหมาบางแก้วกันมากขึ้น มีการส่งประกวดมากขึ้น เริ่มมีการตั้งชมรมผู้เลี้ยงหลากหลาย มีการตั้งสมาคม สุดท้ายปี 2541 ชมรมต่าง ๆ รวมตัวกันเขียนมาตรฐานพันธุ์ โดยมีปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกเป็นผู้ออกประกาศมาตรฐานพันธุ์ที่ใช้กันทั่วไป ปี 2545 มีกำหนดมาตรฐานพันธุ์เพิ่มเติมคือหมาบางแก้วสีขาว-น้ำตาล และการประกวดในงานกาชาดปีนั้นก็มีการประกวดสองประเภท คือ สีขาว-น้ำตาล และประกวดสีทั่วไป กระทั่งถึงปัจจุบันมีมาตรฐานพันธุ์ 3 สี คือ ขาว-น้ำตาล ขาว-ดำ และขาว-เทา
……………………………………