ชมจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยที่วัดกลาง

ย่างเข้าฤดูหนาวปี 2554 หลายครอบครัวคงวางโปรแกรมขึ้นไปเที่ยสัมผัสอากาศหนาวตามยอดดอยแถบอ.นครไทย จ.พิษณุโลก นอกจากจากความงามทางธรรมชาติแล้ว อ.นครไทย ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่านสนใจอีกมากมาย ทีมข่าวพิษณุโลกฮอตนิวส์ขอแนะนำ  ที่วัดกลางศรีพุทธาราม ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก   ที่อุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยวาดเอาไว้อย่างสวยสดงดงาม โดยทางวัดจะเปิดให้ประชาชนและผู้ที่สนใจเข้าชมตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าถึงเย็น  

 

พระครูสถิตชยานันท์ เจ้าอาวาสวัด  ได้ให้เจ้าอธิการณัฎฐ์ธน  กิติปัญโญ เจ้าคณะ ต.นครไทย เป็นผู้พาไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยภายในอุโบสถหลังเก่า

จากสภาพอุโบสถหลังนี้ เป็นอุโบสถที่มีอายุเก่าแก่มาหลายร้อยปี พร้อมกับพระประธานที่มีอายุพอๆกัน แต่ทางวัดได้ทำการปิดทองคำเปลวใหม่ทั้งองค์ ส่วนภายในอุโบสถได้มีการบูรณะทั้งหมดเช่นกัน  โดยเฉพาะที่ผนังอุโบสถได้มีการวาดภาพพุทธประวัติเอาไว้ทั้งสี่ด้าน  มีความสวยสดงามเป็นอย่างยิ่ง แต่ที่มีความแปลกและแตกต่างจากภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยทั่วไปคือ มีการวาดภาพร่วมสมัยแทรกอยู่ในภาพพุทธประวัติครั้งนี้ด้วย

จากการสังเกตภาพจิตรกรรมร่วมสมัยที่จิตกรบรรจงวาดลงไป  ส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มเดียวกันมี ภาพยักษ์สวมซาวเบาว์ กำลังใส่กระสุนปืนครก  ภาพพลทหารยักษ์สวมชุดลายพรางชื่อสอ.วิลลี่ ใช้มืออุดหู เพราะกำลังจะมีการยิงปืนครก  ภาพยักษ์ถือมีดดาบปลายแหลม แต่พกโทรศัพท์มือถือเอาไว้ที่เอว  ยักษ์สวมหน้ากากหัวผีตาโขน  และยังมียักษ์ถือปืนกล็อค และคล้องสะพายลูกกระสุนปืนเต็มบ่าสองข้าง สูงขึ้นไประดับบนประตูโบสถ์จะมีภาพยักษ์ประทับปืนไรเฟิร์ลติดกล้องเตรียมจะยิง ถัดไปทางขวาเล็กน้อยจะมีภาพยักษ์ยกขวดวิสกี้ดื่ม  ส่วนอีกภาพเป็นภาพยมทูตกำลังใช้โทรศัพท์มือถือที่บริเวณกระทะทองแดง แต่ภาพจะอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ตรงประตูทางเข้าเพียงรูปเดียว   ส่วนภาพอื่นๆจะอยู่ตรงประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทั้งหมด

 

เจ้าอธิการณัฎฐ์ธน  กิติปัญโญ เจ้าคณะ ต.นครไทย เปิดเผยว่า วัดกลางศรีพุทธรามเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองนครไทย หรือ นครบางยางในอดีต สำหรับจิตรกรรมฝาผนังที่อุโบสถวัดกลางนั้น เดิมไม่มี เป็นผนังปูนธรรมดา ต่อมาช่วงปี 2530 ได้มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ โดยฝีมือช่างชาวบ้าน ใช้สีน้ำมัน คุณภาพภาพก็ไม่ดี และชำรุดทรุดโทรม ต่อมาช่วงปี 2546 เจ้าอาวาสมีดำริว่าควรจะมีการบูรณะภาพจิตรกรรมฝาหนังใหม่ทั้งหมด ช่วงนั้นได้รู้จักกับช่างวาดฝีมือดี นายสุรพงศ์  เกาะม่วงหมู่ เป็นช่างฝีมือดี เจ้าอาวาสไปเห็นวาดภาพที่วัดในอ.ด่านซ้าย จ.เลย จึงติดต่อมาให้วาดให้ในปี 2546

 

 

เจ้าอธิการณัฎฐ์ธน  เผยต่อว่า ศิลปินเขียนภาพเรื่องราวพุทธประวัติ พุทธชาดก ฝาผนังทั้งสี่ด้านของอุโบสถ ค่อย ๆ เขียนเรื่อยมา สีที่ใช้เป็นสีฝุ่น ตามแบบโบราณ เหมือนการลงลักปิดทอง เป็นจิตรกรรมไทยแท้อีกรูปแบบหนึ่ง จิตรกรรมไทยแท้จะเป็นภาพสองมิติ แต่ที่นี่ใช้เทคนิคการไร่สีสี่ระดับตามแบบจิตรกรรมตะวันตก จะมีมิติของภาพเพิ่มขึ้นมา

สำหรับการสอดแทรกภาพของเครื่องใช้ในจิตรกรรมฝาผนังนั้น ต้องการให้ทราบว่า เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนในยุคนี้ หลังจากหลวงพี่ หลวงพ่อไม่อยู่ คนรุ่นหลังต้องการสืบค้น ก็จะได้รู้บันทึกว่าเขียนในยุคนี้  บอกอายุของภาพที่เขียน เป็นยุคที่มีมือถือ ซาวเบ้าท์ ปืนกล็อค เป็นต้น ช่างจะสอดแทรกอุปกรณ์ไฮเทคสมัยใหม่ในภาพด้านทิศใต้ เป็นเรื่องพุทธประวัติตอนชนะพญามาร ถือเป็นอรรถรสอีกอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่องจิตรกรรมฝาผนัง เด็กรุ่นใหม่เข้ามาชมก็ให้ความสนใจ เพราะอยู่ในชีวิตประจำวันที่เขาอยู่ เข้ามาชมก็เริ่มสังเกต

 

วัดกลางศรีพุทธาราม  เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครไทย หรือเมืองบางยางสมัยโบราณ สร้างในยุคพ่อขุนบางกลางท่าว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมบรมกษัตริย์ไทยแห่งกรุงสุโขทัย  ภาพในวัดมีโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ  ทั้งพระอุโบสถเก่า พัทธสีมาทำด้วยศิลาทรายสีแดง มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ขนาดใหญ่ 3 องค์  คือ พระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปศิลานาคปรก ปางสมาธิศิลปะสมัยลพบุรีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่18–19   พระพุทธรูปมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบศิลปะท้องถิ่นมากกว่าจะเป็นของที่เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นปัจจุบันพระพุทธรูปสำริดศิลปะสมัยสุโขทัย  และพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะสมัยลพบุรี ถูกโจรกรรมสูญหายไปแล้ว  นอกจากนั้นยังมีมีต้นจำปาขาวเก่าแก่กว่า 700 ปี  โดยมีอนุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าวอยู่ใต้ต้นจำปาขาว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นต้นจำปาที่พ่อขุนบางกลางท่าวปลูกไว้

 

 

 

 

ที่ลานวัด มีพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนบางกลางท่าว ที่ประทับยืนอย่างเป็นสง่า มีข้อมูลสลักไว้ที่แผ่นป้ายใต้ฐาน ดังนี้  พ่อขุนบางกลางท่าว สืบเชื้อสายมาจากพระชัยศิริราชา วงศ์เชียงราย อพยพมาตั้งถิ่นฐานซ่องสุมไพร่พลอยู่ที่เมืองบางยาง (ปัจจุบันคืออำเภอนครไทย) ราวพุทธศักราช ๑๗๗๘ ได้ยกไพร่พลตีกรุงสุโขทัย เมืองหน้าด่านของขอม ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (หล่มสัก) ทรงได้รับชัยชนะ ในราวปีพุทธศักราช ๑๘๐๐ จึงสถาปนาพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงสุโขทัย ราชวงศ์พระร่วง ทรงพระนามว่า “ขุนศรีอินทราทิตย์” เป็นพระราชบิดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช

……………………..

แสดงความคิดเห็น