จากกรณีมีชาวบ้าน ม.5 ม.10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ถูกเรียกเก็บหัวคิว ส่วน ม.6 ม.15 ต.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีการนำบ้านร้างไปขอเงินชดเชย 5,000 บาท และนำนาข้าวที่เก็บเกี่ยวไปแล้ว ไปขอรับเงินชดเชยนั้น ทำให้ชาวบ้านได้เข้าร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ หลังจากมีผู้นำชุมชนในพื้นที่ ได้เรียกเก็บหัวคิวเงินชดเชยช่วยเหลือน้ำท่วมนาข้าว ซึ่งรัฐบาลจ่ายให้ไร่ละ 2,222 บาท โดยผู้นำชุมชนได้หักหัวคิวรายละ 2 ไร่ คิดเป็นเงินรายละ 4,000-30,000 บาท ทางจังหวัดได้มีการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบ มีทั้งกรรมการอำเภอ และกรรมการระดับจังหวัด พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สอบสวนผู้เสียหาย รายงานผลการทำงานให้ทางจังหวัดทราบเป็นลำดับ
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 7 ต.ค. 54 ผู้สื่อข่าวรายงายว่า นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการ จ.พิษณุโลก พร้อมด้วยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจง ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะการเรียกเก็บหัวคิว ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ พบว่ามีมูลความจริง เนื่องจากมีคนรู้เห็นและมีพยาน ทางนายธงชัย ทุ่งโพธิ์แดง นายอำเภอบางระกำ ได้มีคำสั่ง ที่ 360/2554 ระบุว่า คณะกรรมการได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้เสนอความเห็นว่า นายชวลิต ยังเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน นายณรงค์ เพชรพูล และนายอ๊อด เงินเขียว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีพฤติกรรมเรียกรับเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจากราษฎรรายละ 2 ไร่ คิดเป็นเงิน 4,000-4,400 บาท
จังหวัดพิษณุโลก ได้มีคำสั่งที่ 2644/2554 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2554 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายชวลิต ยังเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน นายณรงค์ฤทธิ์ เพชรพูล และนายอ๊อด เงินเขียว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 61 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้นายชวลิต ยังเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน นายณรงค์ฤทธิ์ เพชรพูล และนายอ๊อด เงินเขียว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พักหน้าที่ เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย
ด้านนายวัฒนะ กันนะพันธุ์ ปลัดจังหวัด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบครั้งนี้ กล่าวว่า การที่ผู้ถูกร้องเป็นเรื่องปกติที่ต้องปฏิเสธ แต่ในการสอบสวนมาชัดเจน ว่ามีการเรียกรับเงินจริง
นายปรีชา เรืองจันทร์ ผวจ.พิษณุโลกกล่าวต่อว่า จังหวัดพิษณุโลกเปิดรับข้อมูลการทุจริต การรีดหัวคิวชาวนา ใครมีเบาะแส ใครมีข้อมูล สามารถแจ้งมาที่ตนได้โดยตรง และหลังจากนี้ ในการรับเงินช่วยเหลือบ้านถูกน้ำท่วม และเงินช่วยเหลือนาข้าวเสียหาย ผู้รับเงินจะต้องเซ็นต์รับด้วยว่าได้รับเงิน และนำไปให้ใครหรือไม่ เพื่อเป็นหลักฐาน และป้องกันการเก็บค่าหัวคิว ส่วนกรณีผญบ.และผช.บางระกำนั้น หลังพักหน้าที่ สอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว จะต้องดำเนินคดีทางอาญาด้วย ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไปปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้ที่คิดหรือจะกระทำการที่ไม่ถูกต้องต่อไป