บรรดิษฐ์ อินต๊ะ

บรรดิษฐ์ อินต๊ะ ผอ.ชลประทานพิษณุโลก

บรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ร่วมบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วมเขตเศรษฐกิจของเมืองพิษณุโลก นับแต่กลางสิงหาคม-ตลอดเดือนกันยายน 2554 สถานการณ์แม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกเริ่มส่งสัญญาณเพิ่มสูงกว่าปกติ จาก 7 เมตร ค่อย ๆ ไต่ระดับเรื่อยมาจนสูงสุดเมื่อ 24 กันยายน 2554 ที่ระดับ 10.97 เมตร สูงกว่าระดับตลิ่งร่วมครึ่งเมตร สูงกว่าสถิติที่เคยบรรทึกเมื่อปี 2538 ที่ระดับ 10.51 เมตร

สิงหาคม 2554 เมื่อสัญญาณน้ำน่านเริ่มบอกเหตุเกินค่าปกติ ทุกส่วนจึงเริ่มขยับวางแผนป้องกันน้ำท่วมเมืองพิษณุโลก แม่งานหลักคือเทศบาลนครพิษณุโลก ผวจ.พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 และหลายหน่วยงานได้ร่วมวางแผนและทำแนวกั้นตลอดสองฝั่งแม่น้ำน่านระยะทางร่วม 10 กิโลเมตร

และบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพิษณุโลก ก็เริ่มมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้น้ำน่านช่วงไหลผ่านเมืองพิษณุโลกเกินจุดวิกฤติ ได้บริหารจัดการน้ำร่วมกับเทศบาลฯ จังหวัด และเขื่อนหลัก ๆ ทั้งเขื่อนสิริกิติ เขื่อนนเรศวร เขื่อนแควน้อย พร้อมทั้งมีบทบาท ในการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำกับสื่อมวลชน ได้แจ้งเตือน กระจายข้อมูลสถานการณ์น้ำน่านให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะ ๆ

การบริหารจัดการน้ำแม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกไม่ให้วิกฤติเข้าท่วมเขตเทศบาล หลัก ๆ แล้ว ชลประทานพิษณุโลก  จะทำหน้าที่การบริหารจัดการน้ำร่วมกับ 3 เขื่อนหลัก เช็คข้อมูลน้ำในเขื่อน ปริมาณการปล่อยน้ำของเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อยในแต่ละวัน คาดการณ์ปริมาณน้ำไซด์โฟร หรือ น้ำฝนที่ตกท้ายเขื่อน เมื่อรวมกันเป็นแม่น้ำน่านแล้วไหลมาถึงเมืองพิษณุโลก ก็สามารถคาดคะเนได้ว่า ระดับน้ำแม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกจะถึงระดับไหน แนวป้องกันรับไหวหรือไม่ หากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ก็ต้องประสานกับผวจ.พิษณุโลกให้เป็นตัวกลางประสานกับเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนแควน้อย ให้ปรับลดการระบายน้ำ และหากวิกฤติจริง ๆ ก็ประสานกับเขื่อนนเรศวร ในการทดน้ำออกสู่คลองชลประทานและคลองซอย เพื่อลดปริมาณน้ำแม่น้ำน่านช่วงไหลผ่านเมืองไม่ให้ถึงจุดวิกฤติ

“เครียดที่สุดคือวันที่ 24 กันยายน 2554 แม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกขึ้นสูงมาก สูงสุดที่ 10.97 เมตร วันนั้น ต้องประสานขอเขื่อนนเรศวร กดบานประตูระบายน้ำลง และหนักใจสุด คือ ต้องคอยโทรศัพท์ประสาน ขอร้องกับผญบ.ในเขตอ.พรหมพิรามที่ได้รับผลกระทบจากการลดน้ำเข้าเมือง ต้องประสานทำความเข้าใจประชาชนผู้เดือดร้อนในพื้นที่ให้เข้าใจว่าจำเป็นต้องทำ “ บรรดิษฐ์ กล่าว

สุดท้ายผ่านเข้าตุลาคม 2554 แม่น้ำน่านช่วงไหลผ่านเมืองพิษณุโลกมีแนวโน้มดีขึ้น คลายสถานการณ์วิกฤติลงไปได้เยอะ พายุลูกใหม่ ๆ เข้ามาก็ยังไม่มีผลกระทบกับเขื่อน แม่น้ำน่านกำลังเริ่มลดระดับลง ช่วงเดือนกว่า ๆ ที่เมืองพิษณุโลกตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำของแม่น้ำน่านเกือบครึ่งเมตร บรรดิษฐ์  อินต๊ะ ถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง ที่ทำให้เขตเมืองรอดพ้นการถูกน้ำท่วมปีนี้ไปได้

แสดงความคิดเห็น