ต้นเดือนสิงหาคม 2554 แม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลกเริ่มไต่ระดับสูงผิดปกติ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ หลายฝ่ายได้เตรียมการวางแผนรับมือน้ำน่านสูง โดยเฉพาะเทศบาลนครพิษณุโลก ที่เตรียมการประสานงานข้อมูลน้ำกับทุกฝ่าย จนได้บทสรุปว่า ถ้าไม่เตรียมการ น้ำท่วมเขตเทศบาลแน่ จึงเริ่มวางแผนและเตรียมแผนงาน
หลัก ๆ คือ แผนเตรียมการ วารี 1-วารี4 เป็นแผนปฏิบัติการรับมือน้ำท่วม ที่ทำในขั้นวางแนวกระสอบทรายสูงและยาวมาก และ แผนบุษราคัม เป็นแผนปฏิบัติเพื่อเป็นการการรับมือหลังจากน้ำท่วมเขตเทศบาลพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองแล้ว
พิษณุโลกฮอตนิวส์ ขอนำย้อนหลังไปเมื่อ วันที่ 25 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมจุฬามณี 1 สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เทศบาลนครพิษณุโลก ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ว่า ตามที่เทศบาลนครพิษณุโลกโดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เทศบาลนครพิษณุโลก ได้ดำเนินการป้องกันน้ำท่วมเขตพื้นที่เศรษฐกิจมาเป็นเวลาหลายวัน ล่าสุดระดับน้ำยังคงตัวอยู่ที่ 10.10 เมตร แต่คาดว่ายังรับได้ถึงระดับ 10.54 เมตร ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเดิมช่วยในการคำนวณจุดวิกฤตน้ำ เมื่อย้อนอดีตในปี 2538 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่แต่เทศบาลนครพิษณุโลกก็ยังสามารถป้องกันเขตเศรษฐกิจไว้ได้
สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบันเทศบาลนครพิษณุโลกได้ประสานด้านข้อมูลข่าวสารกับสำนักชลประทาน เกี่ยวกับปริมาณน้ำน่าน เขื่อนปล่อยน้ำมาในปริมาณมาก ซึ่งมีเขื่อนถึง 3 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนนเรศวร เขื่อนแควน้อย ทั้ง 3 เขื่อนส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ ระดับน้ำในแม่น้ำน่านอาจจะสูงขึ้นอีกเนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์ได้เร่งปล่อยน้ำ เพราะเกรงว่าเขื่อนจะได้รับผลกระทบอาจจะทำให้เขื่อนแตกได้ถ้ายังเก็บกักน้ำไว้ในปริมาณที่สูงเกินไป ประกอบกับกรมอุตินิยมวิทยาระบุว่าในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป จะมีร่องมรสุมพาดผ่านเข้ามาในประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่พิษณุโลกด้วย ถ้ามีฝนตกหนักจะทำให้เกิดน้ำท่วมขังเนื่องจากปัจจุบันเทศบาลนครพิษณุโลกมีการอุดท่อระบายน้ำและใช้เครื่องสูบน้ำออกไปยังแม่น้ำน่านแทน โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ 20 จุด บางจุดมีเครื่องสูบน้ำ 2-3 เครื่อง พร้อมทั้งนำกระสอบทรายทำเขื่อนป้องกันตลอดริมตลิ่งในจุดพื้นที่เสี่ยง 2 ฝั่งแม่น้ำน่าน ตลอดแนวตลิ่งระยะทาง 10 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ได้เตรียมแผนปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัย 5 แผน คือแผน วารี 1-วารี4 เป็นแผนปฏิบัติการรับมือน้ำท่วม ขณะนี้ยังดำเนินการในแผนวารี 4 ส่วนแผนที่ 5 แผนบุษราคัม เป็นแผนปฏิบัติขึ้น เพื่อเป็นการการรับมือหลังจากน้ำท่วมเขตเทศบาลพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองแล้ว
ซึ่งแผนนี้ จะเป็นการป้องกันเยียวยาและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
สำหรับแผนบุษราคัมมีการการแบ่งความรับผิดชอบออกเป็น ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนจากอุทกภัยตามแผนบุษราคัม (ศูนย์กลาง) สถานที่ตั้ง ณ งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีนางเปรมฤดี ชามพูนท นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ ฯ และมีศูนย์ปฏิบัติการอีก 4 ศูนย์ คือ
ศูนย์ปฏิบัติการเขตที่ 1 สถานที่ตั้ง ณ ศูนย์สุขภาพพระองค์ขาว มีศูนย์อพยพ 1 ณ วัดธรรมจักร และวัดใหญ่(สำรอง) โดยมีนายอดิเทพ ศิริเจริญพันธ์ รองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
ศูนย์ปฏิบัติการเขตที่ 2 สถานที่ตั้ง ณ โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร มีศูนย์อพยพ 2 ณ โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร และวัดโคกมะตูม (สำรอง) มีนายแพทย์สุธี ฮั่นตระกูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
ศูนย์ปฏิบัติการเขตที่ 3 สถานที่ตั้ง ณ สำนักงานเทศบาลนครพิษณุโลก (เดิม) มีศูนย์อพยพ 3 ณ วัดราชบูรณะ และโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันออก (สำรอง) มีนายบุญทรง แทนธานี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
ศูนย์ปฏิบัติการเขตที่ 4 สถานที่ตั้ง ณ ศูนย์สุขภาพประชาอุทิศ มีศูนย์อพยพ 4 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม และโรงเรียนวัดจันทร์ตะวันตก (สำรอง) มีนายสมเกียรติ แสงสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
นอกจากนี้ศูนย์ปฏิบัติการแต่ละเขตจะมีหน้าที่แบ่งออกเป็นฝ่ายต่างๆ 7 ฝ่าย ดังนี้ 1. ฝ่ายเฝ้าระวังพนังกั้นน้ำ 2. ฝ่ายควบคุมระบบไฟฟ้า 3. ฝ่ายอพยพและช่วยเหลือประชาชน 4. ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย 5. ฝ่ายช่วยเหลือรถติดน้ำท่วมอำนวยความสะดวก 6. ฝ่ายถุงยังชีพและรับบริจาค ฝ่ายสุขภาพอนามัยและรักษาพยาบาล 7. ฝ่ายประชาสัมพันธ์และข้อมูลข่าวสาร
วันนี้ 15 กันยายน 2554 เวลา 18.00 น.แม่น้ำน่านเมืองพิษณุโลทกำสถิติสูงสุดที่ 10.85 เมตร ระดับน้ำอยู่ในแนวกระสอบทราย ภาพที่เห็นในวันนี้คือ ถ้าไม่กั้นกระสอบทราย น้ำน่านท่วมเมืองพิษณุโลกแน่ ๆ ขณะที่น้ำเหนือยังลงมาอีกมาก และที่แน่ ๆ วิกฤติน้ำท่วมเมืองพิษณุโลก ได้เห็นภาพความร่วมมือร่วมแรงใจของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน พ่อค้า ประชาชน และอีกมากมาย ต่างพร้อมใจกันปกป้องเมืองพิษณุโลกให้พ้นภัยจากน้ำท่วมกันยายน2554นี้
/////