วันที่ 5 กันยายน 2554 เว็ปข่าวพิษณุโลกฮอทนิวส์ ได้รับการร้องเรียนจากนายสาคร สงมา อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 4/1 ม.7 ต.จอมทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก ว่า อยากเรียกร้องให้ผวจ.พิษณุโลกเหลียวมองปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ม.7และม.9 ต.จอมทองด้วย ตั้งแต่เริ่มมีวิกฤติแม่น้ำน่านสูงจะท่วมตัวเมืองพิษณุโลก พื้นที่ม.7และม.9 ต.จอมทองได้ประสบปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2554 เริ่มจากน้ำไหลเข้าท่วมที่นา ต่อมา 23 สิงหาคม 2554 น้ำได้ไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่หมู่บ้าน และที่สำคัญคือน้ำได้ไหลเข้าท่วมสวนเกษตรดั้งเดิมของชาวบ้านต.จอมทอง และท่วมขัง จนขณะนี้ ไม้ผลหลากหลายชนิดกำลังยืนต้นตาย
นายสาคร เผยต่อว่า พื้นที่ม.7และม.9 บ้านโพธิ์ทอง และบ้านจอมทอง ตั้งอยู่ระหว่างกลางของแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่แม่น้ำทั้งสองมีปริมาณมาก น้ำได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่หมู่บ้าน และทุกวัน ระดับน้ำยังขึ้น ๆ ลง แล้วแต่การระบายแม่น้ำน่านและแม่น้ำวังทอง ส่วนสภาพปัจจุบัน แม้ว่าถนนหนทางภายในหมู่บ้านจะใช้สัญจรได้ แต่น้ำที่ท่วมขังสวนเกษตรดั้งเดิม ที่ชาวบ้านลงทุนลงแรงปลูกมาตั้งแต่ปี 2538 กำลังจะล่มสลาย ทั้งส้มโอ กล้วย มะไฟ กะท้อน ฝรั่ง ขนุน ที่เป็นล้วนรากฐานรายได้ของคนต.จอมทองกำลังยืนต้นตาย ขณะที่น้ำที่ขังอยู่ในพื้นที่สวนก็ยังไม่สามารถระบายออกได้ น้ำเริ่มเน่าเหม็น มียุงลายชุกชุม
“เรารับรู้ว่าน้ำท่วมบางระกำหนักมาก หนักกว่าทุกปี เพราะน้ำมาเร็วและมาก ท่วมข้าวเสียหายมหาศาล และทุกครั้งที่เทศบาลนครพิษณุโลกบอกว่ารับมือไหว แต่น้ำทั้งสองสายทั้งแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อยมันเข้าท่วมพื้นที่พวกเรา คนส่วนใหญ่จึงสนใจมองน้ำท่วมแต่เพียงบางระกำ หรือจะท่วมเมืองพิษณุโลกหรือไม่ แต่ขณะนี้สวนผลไม้ที่เป็นหลักสุดท้ายของพวกเรากำลังจะตาย” นายสาคร กล่าว