พรานปลาแห่งบ้านกรับพวง ม.10 ต.วังอิทก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ถือเป็นมือฉมังอันดับหนึ่งในการล่าปลาน้ำจืดหลากสายพันธุ์ในพื้นที่น้ำท่วมขังอ.บางระกำ พวกเขาลงข่ายหาปลา จนคนในพื้นที่ต้องอึ้งกับความสามารถและความพยายาม พวกเขากินง่าย อยู่ง่าย มาเป็นคู่ ทำงานเป็นทีม ไปทุกที่ที่มีน้ำ ไปทุกที่ทีมีปลา หมดน้ำท่วม หมดปลาก็กลับไปทำไร่-ทำสวนที่ภูมิลำเนาเดิม
ริมถนนสายบางระกำ-บ้านแท่นนางงาม ต.ท่านางงาม พื้นที่น้ำท่วมขังของอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ขบวนรถปิคอัพ 6 คัน 6 ครอบครัว ขนอุปกรณ์ทำมาหากิน เรือพลาสติก แห พร้อมอุปกรณ์อยู่กินทั้งเครื่องครัวเครื่องนอนพร้อมสรรพ พรานปลาบ้านกรับพวง เลือกทำเลริมถนนตั้งเป็นแคมป์หาปลา กางเต้นท์และอุปกรณ์ทำครัวพร้อมอยู่ในพื้นที่นานแรมเดือน
นายทองใบ และนางหยวก ภู่คำ คู่สามีภรรยาวัย 55 ปี ที่มาด้วยรถปิคอัพพร้อมอุปกรณ์หาปลา ข่าย เรือพลาสติก ถังน้ำบรรจุน้ำแข็ง เปิดเผยว่า พวกตนทั้งหมดมาจากบ้านกรับพวง ม.10 ต.วังอิทก อ.บางระกำ ปกติแล้วอาชีพหลักคือทำนาและทำสวน แต่อาชีพหาปลาเป็นอาชีพเสริมที่ชาวบ้านกรับพวงจำนวนมากทำเป็นประจำทุกปีในฤดูน้ำท่วมระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ครอบครัวตนทำนาและทำสวนมะนาว ปีนี้โชคดีน้ำไม่ท่วมนา แต่ก็เลือกมาหาปลา เพราะเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ดี ที่เห็นจอดรถอยู่ริมถนน แต่ละครอบครัวก็มาเป็นคู่ตายาย สังเกตง่าย ๆ ถ้าเป็นรถปิคอัพหรือรถอีโก้งบรรทุกเรือพลาสติกมาในพื้นที่น้ำท่วม นั่นแหละคือ พรานปลาแห่งบ้านกรับพวง
ทองใบ เล่าว่า ตั้งแต่น้ำเริ่มท่วมช่วงต้นเดือนกันยายนพวกชาวบ้านกรับพวงก็เริ่มถักตาข่าย ใส่ตุ้มถ่วงน้ำหนัก เตรียมอุปกรณ์หาปลาให้พร้อม แล้วก็ชวนกันไปตามแหล่งน้ำท่วม มากันครั้งละ 4-5 วัน พักแรมหุงหาอาหารและกางมุ้งนอนริมทาง เช่าตนก็จะพายเรือออกไปวางข่าย เที่ยงไปกู้ข่าย แล้วนำมาแช่น้ำแข็งไว้ ได้ปลาสารพัดชนิดแล้ว ช่วงนี้ได้ปลาตะเพียน นำไปขายแม่ค้ารับซื้อปลา ขายได้กิโกกรัมละ 20-30 บาท มีรายได้วันละ 1,000 บาท ดีกว่าอยู่บ้านเฉย ๆ
ประจวบ พวงเงิน อายุ 60 ปี ชาวกรับพวงอีกรายที่ออกมาหาปลาพร้อมกับภรรยา เปิดเผยว่า ปกติประกอบอาชีพทำนาอยู่ที่บ้านกรับพวง แต่ช่วงนี้ยังไม่เริ่มลงมือปลูกข้าว จึงมีเวลาว่าง ทุกปีตนและภรรยาก็จะมาออกหาปลาในพื้นที่โดยใช้วิธีวางข่ายเป็นอุปกรณ์หลัก ชาวกรับพวงยึดอาชีพนี้กันมานานหลายสิบปีแล้ว เรียกว่าหาปลากันทั้งหมู่บ้าน
ส่วนสมบูรณ์ ทิพย์วงศา อายุ 27 ปี เขยบ้านกรับพวง ที่ออกมาล่าปลาพร้อมกับพ่อตาและแม่ยาย ปล่อยให้ภรรยาอยู่เฝ้าบ้าน เปิดเผยว่า ปกติประกอบอาชีพทำนา แต่ช่วงนี้รอถึงต้นธันวาคมจึงจะลงมือหว่านข้าว ตนออกมาหาปลาอย่างนี้ร่วม 10 ปีแล้ว และชาวกรับพวงก็ออกมาหาปลาอย่างนี้นานแล้ว มากันครั้งหนึ่งก็ยกครัวมาเลย กับข้าวไม่ต้อง มาหากินปลา ปูเอาข้างหน้า กินอยู่แบบพอเพียง นอนก็กางมุ้งนอนในกระบะรถ หุงหาอาหารริมทาง
ก่อนหน้านี้อุปกรณ์ไม่มาก ใช้แค่ยางรถยนต์นำไม้กระดานมาพาด แล้วพายไปวางข่ายแทนเรือ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นเรือพลาสติกกันหมดแล้ว พวกชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ก็แวะมาดูพวกตนทุกวัน ถึงกับทึ่ง สงสัยว่าทำไมพวกตนจึงวางข่ายจับปลาได้เยอะมาก ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่เขาก็วางข่ายเหมือนกัน แต่จับไม่ได้มากเท่าชาวกรับพวง
สมบูรณ์เล่าต่อว่า ชาวกรับพวงมีเคล็ดลับในการทำข่ายโดยเฉพาะของชาวกรับพวงที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น ลงทุนซื้อข่ายที่ถักแล้วเหมือนกับคนหาปลารายอื่น ๆ แต่มีวิธีถ่วงน้ำหนัก มัดตะกั่วที่ข่ายตามแบบฉบับของชาวกรับพวง และมีความชำนาญในการมองหาแหล่งปลา รู้ว่าช่วงไหนทางน้ำผ่าน จุดไหนปลาชุม รู้ช่วงเวลาการเปลี่ยนตาข่าย เช่นช่วงน้ำท่วมใหม่ ๆ จะมีแต่ปลาเล็ก ก็ต้องใช้ข่ายที่มีความถี่มากหน่อย ส่วนช่วงปลายฤดูน้ำท่วม ก็ต้องเปลี่ยนตาข่ายให้ที่กว้างขึ้น ก็จะได้ปลาใหญ่ขึ้น งวดนี้มาร่วมเดือนแล้ว เก็บเงินได้พอสมควร ก็จะนำกลับไปลงทุนทำนาต่อ