หลวงปู่แขก วัดสุนทรประดิษฐ์

หลวงปู่แขกกับนายกยิ่งลักษณ์สมัยมาหาเสียงบางระกำ

หลวงปู่แขก วัดสุนทรประดิษฐ์ ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นามเดิมชื่อ ลำยอง นามสกุล นาทีทองพิทักษ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ.2467 ตรงกับแรม 7 ค่ำ เดือน 10 ปีชวด ณ บ้านกรุงกรัก ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก บิดาชื่อ นายเฮง มารดาชื่อ นางพัน อาชีพทำนา มีพี่น้องรวม 7 คน

หลวงปู่แขกเล่าบางเกร็ดของอ.บางระกำ

            ท่านเป็นพระอาจารย์ที่ชาวจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นพระที่ถือสันโดษ บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ในด้านการปฏิบัติของท่านนั้น ถือเอาปฏิบัติสัจจะเป็นที่ตั้ง ท่านจึงมีสานุศิษย์ใกล้ชิดที่มีความเคารพมาก เพราะได้ประจักษืแก่สายตาของตนเองมาแล้วทั้งนั้นหลวงปู่แขกท่านมีชื่อเสียงมากทางด้านปลุกเสกวัตถุมงคล ทั้งเหนือ กลาง อีสาน ใต้เมื่อมีการสร้างวัตถุมงคลที่ไหนก็มักจะมีรายชื่อหลวงปู่แขกร่วมอธิษฐานจิตอยู่ด้วยเสมอ

28 สค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการมาเยือนอ.บางระกำ ตรวจสอบความคืบหน้าบางระกำโมเดล ที่รัฐบาลกำหนดให้ พิษณุโลกให้เป็นจังหวัดนำร่องแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้วทั้งระบบ และในกำหนดการ ได้บรรจุภาวะเข้ากราบนมัสการหลวงปู่แขกที่วัดสุนทรประดิษฐ์ด้วย หลัง 20 มิย.2554 เดินทางมากราบหลวงปู่แขกแล้วรอบหนึ่งในคราเดินสายหาเสียงที่พิษณุโลก และเหมือนมีสัญญาไว้ว่า ถ้าเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกลัมากราบนมัสการอีกครั้งหนึ่ง

ที่ว่าการอำเภอบางระกำ

ทีมข่าวพิษณุโลกฮอทนิวส์ มีโอกาสซักถามหลวงปู่แขกในหลายประเด็น ที่ร้อนแรงสุดคือเรื่องบางระกำโมเดล ที่รัฐบาลตั้งเป้าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอ.บางระกำ ท่านกรุณาเล่าให้ฟังว่า อาตมาเป็นชาว อ.บางระกำ โดยกำเนิด เกิดที่นี่เติบโตอยู่นี้ตอนนี้อายุ  88 ปี บวชเป็นพระมาก็ 70 พรรษาแล้ว  มองเห็นสภาพปัญหาของพื้นที่อำเภอบางระกำเป็นอย่างดี มองในเรื่องของน้ำท่วม ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันมาก ในอดีตน้ำท่วมร้ายกาจกว่าปัจจุบันมาก ลำบากไม่มีใครช่วยเหลือแบบในสมัยนี้ ชาวบ้านต้องช่วยเหลือตัวเอง ทั้งหมด ตั้งแต่การหนุนบ้าน ขนข้าวของหนีน้ำ วัวควาย ทุกปีน้ำต้องท่วมชาวบ้านรู้เตรียมตัวรับมือไว้ตลอด

 

ส่วนเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม “บางระกำ โมเดล” ตามแนวคิดนายกรัฐมนตรี หลวงปู่แขก บอกว่า ไม่รู้ว่าแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร  ถ้าหากมีเวลาก็อยากจะเสนอแนวคิดของหลวงปู่    ที่มองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งของบางระกำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้นายกรัฐมนตรีฟัง อำเภอบางระกำเรามีคลองเล็กคลองน้อยมากมาย ที่เชื่อมโยงถึงกันหมด ในพื้นที่จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร ตนอยากเสนอให้ทำแม่น้ำเทียม จากอ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย  ถึง อ.โพธิ์ทะเล จ.พิจิตร  จากนั้นให้ขุดคลองที่มีอยู่เดิมประมาณ  10 คลอง  อาทิ คลองปากพระ คลองพระพาย คลองกรุงกรัก คลองยันต์พันคลอง คลองสามง่าม แต่ละคลองให้ขุดมาเชื่อมกับแม่น้ำเทียม   เพื่อใช้เป็นคลองที่สามารถระบายน้ำไปยัง จาก จ.สุโขทัย  จ.พิษณุโลก  จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น    

ด้วยคลองที่ขุดใหม่ให้มีขนาดความลึก 6 เมตร กว้าง 20 เมตร พร้อมทำประตูเปิดปิด ให้สามารถเก็บไว้ในคลองได้จำนวนมาก เพราะระยะทางต่อคลองยาวไม่ต่ำกว่า 50 กิโลเมตร  จะทำให้เรามีน้ำกักเก็บไว้จำนวนมาก โดยไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้น  มองดูแล้วมีความเป็นไปได้ใช้งบประมาณดำเนินการไม่กี่ร้อยล้านบาทแต่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง ๆ  ซึ่งแนวคิดที่อาตมาคิดไว้อยากเสนอ ถ้านายกรัฐมนตรี ทำบางระกำโมเดล เป็นโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ก็อยากเสนอแนวคิดตามนี้เพื่อให้ “บางระกำ โมเดล” เป็นจุดที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริง ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อที่ดูดี  แต่แก้ไขปัญหาไม่ได้

ส่วนที่มาที่ไปของชื่อบางระกำนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่า เดิมที่ตั้งอำเภออยู่ที่ชุมแสงสงคราม ส่วนอำเภอบางระกำในปัจจุบันนั้น สมัยก่อนเป็นชุมชนเล็ก ๆ ชาวบ้านในอดีตตั้งชุมชนอยู่บริเวณปากคลองบางแก้ว ที่มาบรรจบกับแม่น้ำยม เป็นชุมชนเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ บุกเบิกพัฒนามาเป็นที่ตั้งอำเภอในปัจจุบัน

หลวงปู่แขกเล่าว่า ที่มาของชื่ออำเภอบางระกำ ก็มาจากที่มาของทางไปจังหวัดไปอำเภอบางระกำมันลำบาก ลุยน้ำ ลุยโคลน ลุยป่า สมัยก่อนมีต้นระกำ เห็ดระกำเต็มไปหมด คนก็เข้าใจว่าเวรกรรม ทุกข์ระกำ ลำบาก เคยมีท่านผู้หญิงคนหนึ่ง นิมนต์เกจิไปปลุกเสกพระ ที่ปราจีนบุรี แต่ไม่ยอมนิมนต์อาตมาไป บอกว่าบางระกำชื่อไม่ดี แต่มาทีหลังเขาก็มาขอโทษ มานิมนต์ ก็บอกเขาไปว่า ต้องเข้าใจบางระกำใหม่นะ  บางระกำที่นี่มันกอ-สระอำ-กำ มันกำเงิน กำทอง ทำโชค กำลาภ มีมีดพร้าแล้วไม่กำมันจะทำอะไรได้ ทุกอย่างมันต้องกำทั้งนั้น ไม่ใช้กรรมเวร เวรกรรม

ส่วนต้นระกำเป็นไม้พุ่ม หนาม ต้นใหญ่ สมัยก่อนมีมาก นำมาทำฟืนทำถ่าน ยังพอเห้นบ้าง ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบางระกำก้มี และสมัยก่อนมีเห็ดระกำ เห็นใหญ่ ๆ มาต้มกินอร่อย แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว

ต้นระกำหน้าที่ว่าการอำเภอบางระกำ

หลวงปู่แขกเล่าต่อว่า อำเภอบางระกำสมัยก่อนลำบากมาก ไม่มีถนนหนทาง ปี 2503 มีนายอำเภอบางระกำมาปรึกษา อยากจะทำถนนหนทาง จะเกณฑ์คนก็ลำบาก ทำถนนก็ลำบาก บางระกำมีแต่ดินเหนียว ไม่มีดินลูกรัง ทำถนนไปน้ำมาก้พัง สุดท้ายบอกนายอำเภอว่า ลองเช็คบัญชีในอำเภอว่ามีกี่หลังคาเรือน เมื่อนายอำเภอเช็คมาแน่นอนแล้ว ก็บอกนายอำเภอไปว่าได้แล้ว ได้รถมาทำถนนแล้ว 5,000 หลังคาเรือน แบ่งคน 3 ประเภท มั่งมี ปานกลาง ยากจน เราเอาแค่สองกลุ่ม คนมั่งมีกับคนปานกลาง ขอหลังคาเรือนละ 300 บาท แต่ก่อนจะเอาเงินเขาต้องไปพุดทุกหมู่บ้านให้เข้าใจ เกิดศรัทธา ให้เห็นประโยชน์ของการเสียสละที่จะได้ถนนหนทาง ทำทางให้เป็นทาน สร้างอนาคตให้รุ่นเหลน หลาน เขาก็เห็นดีบริจาคกันครัวเรือนละ 300 บาท สมัยนั้นข้าวเกวียนละ 600 บาท ก็ผ่อนบ้าง ผลสุดท้ายได้เงินล้านกว่าบาท

ได้เงินมาซื้อรถแทรคเตอร์แคตเตอร์ราคา7แสนกว่า ซื้อรถลำเลียง รถตรวจการณืยังมีเงินเหลือฝากธนาคารนิดหน่อย เริ่มทำถนน 4 สายหลักก่อน อำเภอบางระกำไปต.ชุมแสงสงคราม ไปต.หนองกุลา ไปต.ปลักแรต ไปต.วังอิทก ทำ 4 สายหลักก่อนแล้วถึงจะทำสายซอยทีหลัง มีรถแทรกเตอร์ก็ทำได้ สุดท้ายก็ทำได้ และมาได้พัฒนาถนนช่วงนโยบายเงินปรันคึกฤทธิ์  ปราโมท ก็พัฒนาเป็นถนนลูกรัง และก็พัฒนามาเป็นถนนลาดยางในปัจจุบัน

แสดงความคิดเห็น