สถานการณ์เฝ้าระวังแม่น้ำน่านล้นตลิ่งเข้าท่วมเทศบาลนครพิษณุโลกตั้งแต่ต้นสิงหาคม 2554 มีหลายมุมมอง บางคนมองว่าแตกตื่นกันไปเกินเหตุ บ้างเห็นว่าควรตระหนัก แต่ที่แน่ ๆ ส่วนราชการมองว่าไม่เตรียมการอาจหายนะ
มองว่าตื่นตูม ก็เกิดมาชีวิตนี้อายุ 30-40 ปี ยังไม่พานพบแม่น้ำน่านล้นตลิ่งท่วมเมืองพิษณุโลกแบบจัง ๆ อย่างมากก็ปี 2538 น่านสูง 10.51 เมตร ก็ท่วมหนักโซนบ้านคลอง โซนต.ทอมทอง ปากโทก แบบที่จะเห็นย่านตลาดร้านค้าท่วมสูง ๆ ยังไม่เจอ พวกนี้จึงรู้สึกเฉย ๆ ไม่ตื่นเต้นตาม ไม่ต้องเตรียมรับมือ อย่างไรเสียก็ไม่ท่วมแน่
มองว่าตระหนัก ปี 2538 น้ำมาก ปี 2549 น้ำน่านก็มาก ช่วงนั้น หากไม่เตรียมรับมือ ขาดการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างต้นน้ำ ท้ายน้ำ เมืองพิษณุโลกอ่วมแน่ กลุ่มตระหนักคือกลุ่มราชการเป็นหลัก ผู้ว่าฯ ชลประทาน นายกเทศมนตรี กองทัพภาคที่ 3 อบต.ต่างๆ และประชาชนอีกจำนวนมาก
ส่วนกลุ่มตื่นเต้นนั้นมีมาก ๆ ด้วย นานครั้งจะเห็นแม่น้ำน่านปริ่ม ๆ ตลิ่ง ซะครั้งพาลูกหลานออกมาชมสวนชมน่าน บ้างก็สนุกสนานลงไปย่ำน้ำเล่น
สถานการณ์วิกฤติน้ำน่านล้นตลิ่งเริ่มแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2554 ถือเป็นปีที่วิปริตจริง ๆ ปกติแล้วสถานการณ์แบบนี้จะมาช่วงกลาง ๆ ฤดูฝน ปลายกันยาถึงตุลา แม่น้ำน่านช่วงไหลผ่านเทศบาลนครพิษณุโลกสูงมาสองระลอก ล่าสุดคือครั้งที่ 3 ที่ได้ลุ้นกันมากหน่อย น้ำน่านค่อย ๆ ไต่ระดับจาก 10.10 ม.ขึ้นมาจนถึง 10.34 ม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เขื่อนสิริกิติ์เก็บน้ำไว้ 90% ขอปล่อยเพิ่ม เขื่อนแควน้อยเก็บน้ำ 90 % ก็ขอปล่อยเพิ่ม
ปัจจุบันเมืองพิษณุโลกมีตัวควบคุมน้ำหลัก ๆ อยู่ 3 ตัว คือเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนแควน้อยอ.วัดโบถส์ จ.พิษณุโลก และเขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ที่ตั้งของเมืองพิษณุโลก เป็นแม่น้ำน่าน ที่รับแม่น้ำสองสาย คือน่านจากอุตรดิตถ์และแควน้อยจาก อ.วัดโบสถ์ น้ำน่านในเมืองพิษณุโลกจะมาก จะน้อย ก็มาจากตัวควบคุม 3 ตัวนี้
สถานการณ์ขณะนี้ ส่วนราชการใช้ชื่อเรียกว่าเฝ้าระวังวิกฤติ 25 สิงหาคม เมื่อน้ำที่ระบายเพิ่มจากเขื่อนสิริกิติ์เดินทางมาถึงเมืองพิษณุโลก สมทบกับน้ำแควน้อยที่ระบายมาเต็มที่ แม่น้ำน่านอาจจะไต่ระดับถึง 10.40-10.50 เมตร น้ำขนาดนี้ อาจไม่ถึงล้นในเขตเทศบาล แต่ล้นแน่ ๆ ทางทิศเหนือและทิศใต้ของเทศบาล เมื่อน้ำล้นย่อมไม่ไปไหน ติดถนนเลียงเมือง ในเมือง บ้านจัดสรร ระบายออกก็ไม่ได้ น้ำขังสูงแน่ๆ วันนี้จึงเห็นการเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง การระดมพลจากทุกภาคส่วน ทำแนวกระสอบทราย อุดท่อระบายน้ำ ตั้งเครื่องสูบน้ำ จัดเวรยามเฝ้าจุดเสี่ยง
และบางอย่างทีประชาชนทั่วไปไม่ได้เห็น คือการบริหารจัดการน้ำ เจ้าภาพหลักคือชลประทานพิษณุโลก ผวจ.พิษณุโลก เดิมเขื่อนสิริกิติ์มีแผนจะระบายน้ำลงน่านวันละ 80 ล้านลบ.ม. เนื่องจากเหลือพื้นที่อ่างสำหรับบริหารจัดการน้ำแค่ 10 % ยังเหลือในเดือนกันยา-ตุลาอีก มาขนาดนั้นพิษณุโลกวิกฤติแน่ ๆ แควน้อยวันละ 2 1 ล้านลบ.ม.ก็มาเต็ม ๆ ชลประทานและผวจ.จึงประสานขอเบาๆ หน่อย เขื่อนสิริกิติ์จึงปรับลดการระบายน้ำเพิ่ม มาเหลือวันละ 63 ล้านลบ.ม. ( จากก่อนหน้านี้ระบายวันละ 57 ล้านลบ.ม. ) เริ่มระบายเพิ่มเมื่อ 22.00 น.22 สิงหาคม น้ำเดินทางมาถึงพิษณุโลก 25 สค.2554 น้ำขนาดนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าฝนตกซ้ำ ไม่ตั้งรับให้ดี โอกาสได้เห็นภาพน้ำท่วมเมืองพิษณุโลกก็อาจเกิดขึ้นได้
สุดท้าย แผนฉุกเฉิน หากฝนซ้ำหนัก ระดับน้ำน่านช่วงไหลผ่านเมืองพิษณุโลกเกินวิกฤติ อาจต้องงัดแผนฉุกเฉินขึ้นมาใช้ เขื่อนนเรศวร อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก จะเป็นตัวชะลอน้ำน่าน บังคับให้น้ำน่านเหนือเขื่อนนเรศวรระบายสู่คลองชลประทาน คลองน้ำทิ้ง และไหลเข้าท่วมทุ่ง พี่น้องอ.พรหมพิราม อาจรับน้ำแทนชาวเมืองพิษณุโลก
พิษณุโลกฮอทนิวส์ จะเกาะติดสถานการณ์วิกฤติน้ำน่าน รายงานแจ้งเตือนสถานการณ์แม่น้ำน่าน ทุกระยะ เหตุการณ์ ณ วันนี้ บางคนอาจจะมองว่าตื่นตูมกันเกินเหตุ เห็นแม่น้ำน่านไต่ระดับสูง ๆ มาตั้งแต่ต้นเดือนสุดท้ายก็ไม่เห็นท่วมซักที แต่อีกส่วนก็ตระหนัก โดยพาะภาครัฐเตรียมตั้งรับเต็มที่ ส่วนชาวเมืองทั้งหลาย อย่างน้อยการป้องกันตัวเอง การเตรียมรับมือด้วยตัวเอง สมมติเหตุการณ์ ถ้าน้ำท่วมมาขนาดนั้น ขนาดนี้ ชีวิตความเป็นอยู่จะผ่อนหนักเป็นเบาได้อย่างไร