ในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำเดือนสิงหาคม 2554 เมื่อเวลา 10.00 น.วัน 23ส.ค.2554) ที่โรงแรมวังแก้ว จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งนายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธาน มีหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าวกันอย่างพร้อมเพรียง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ชี้แจงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ การให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ประสบอุทกภัย การป้องกันน้ำเข้าท่วมในเขตตัวเมืองพิษณุโลก ซึ่งจังหวัดพิษณุโลก ได้รับการสนับสนุนด้านกำลังพลจากกองพลทหารราบที่ 4 กองทัพภาคที่ 3 ประมาณ 1,000 นาย ช่วยกันวางแนวป้องกันน้ำตลอดสองฝั่งแม่น้ำน่าน สู้กับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อรักษาเขตเมืองให้ปลอดภัยจาก น้ำท่วม
ต่อมาเวลา 13.30 น.วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 3 อ.เมือง จ.พิษณุโลก นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มจังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเขื่อนสิริกิติ์ มีความจำเป็นจะต้องระบายน้ำออกจากเขื่อน ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำในเขื่อนประมาณร้อยละ 90 โดยในระยะนี้จะมีการระบายน้ำวันละ 65 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ซึ่งมีปริมาณน้ำขณะนี้ร้อยละ 90 และมีการระบายน้ำวันละ 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดพิษณุโลกเพิ่มระดับสูงขึ้น เข้าสู่ภาวะวิกฤตและและสถานการณ์น้ำยังไม่น่าไว้วางใจ จังหวัดพิษณุโลก ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 จัดกำลังวางแนวกระสอบทราบกันน้ำไม่ให้เข้าท่วมเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมทั้งกำชับเร่งรัดให้อำเภอบางระกำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการ บางระกำโมเดล ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์กับส่วนกลาง รวมทั้งระบบการติดต่อสื่อสาร เพราะมีแนวโน้มว่านายกรัฐมนตรี(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)ได้ให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว และจะลงพื้นที่มาตรวจติดตามในเร็วๆนี้
บางระกำโมเดล มีแนวทางในการดำเนินการ ตามหลัก 2 P 2 R ของนายกรัฐมนตรี ก็คือ การเตรียมการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลพื้นที่ การเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยที่จะต้องช่วยเหลืออย่างรวดเร็วให้ประชาชนรอดพ้นจากวิกฤต การซ่อมแซมฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัย และการป้องกันในระยะยาวที่ยั่งยืน และในการประชุมครั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง แจ้งเตือนประชาชน ให้ข้อมูลข่าวสาร ผ่านสื่อวิทยุ วิทยุชุมชน เสียงตามสายหรือหอกระจายข่าว
พร้อมกำชับ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก ดูแลภัยและการก่ออาชญากรรมที่มากับอุทกภัยที่จะไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ประสบอุทกภัย เช่น การขโมยทรัพย์สินบ้านเรือนผู้ถูกน้ำท่วม ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะหน่วยเคลื่อนที่ไปบริการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ระยะนี้ให้เน้นไปที่ 3 อำเภอ คือ บางระกำ บางกระทุ่มและพรหมพิราม รวมถึงการแจกถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้ทั่วถึงทุกครัวเรือน และดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด
ประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลก-ข่าว/ภาพ