“บางระกำโมเดล”ศัพท์ใหม่แก้น้ำท่วม

บางระกำโมเดล

นายธงชัย ทุ่งโพธิ์แดง นายอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก  กล่าวว่า  “บางระกำโมเดล”ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายสั่งการให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบ ว่า  ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้มาประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ว่าการอำเภอบางระกำ   เพื่อศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด  “วอร์รูม” เดินหน้า “บางระกำ โมเดล” 

บางระกำโมเดล

 

 สำหรับทางอำเภอบางระกำ วันนี้ กำลังเร่งดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ โดยมีตนซึ่งเป็นนายอำเภอบางระกำเป็นประธาน ระดับอำเภอ มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. และนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล โดยคณะทำงานหลักเน้นพื้นที่เป้าหมายที่ประสบปัญหาน้ำท่วมประจำ 5 ตำบล ประกอบด้วย ต.ชุมแสงสงคราม  ต.ท่านางงาม ต.บางระกำ ต.คุยม่วง และ ต.วังอิทก อ.บางระกำ และตำบลในพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีการตั้งเครือข่ายคณะทำงานต้องใช้เวลา   3-4 วัน จึงจะแล้วเสร็จ   จากนั้นรอให้ทางรัฐบาลจะส่งเครื่องมือสื่อสาร ระบบ  ICT มาให้ใช้ที่ ศูนย์ป้องกันและช่วยเหลือน้ำท่วม ของทางอำเภอบางระกำ ในการอำนวยความสะดวก ด้านการประสานงานกับทางจังหวัด ภาค กระทรวงและนายกรัฐมนตรี โดยตรงเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็ว   

บางระกำโมเดล

 

“เมื่อติดตั้ง ระบบ ICT แล้ว คณะทำงาน จะเริ่มจัดทำข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบตามที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายสั่งการในการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยได้กำหนดให้ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ต้นแบบของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือ “บางระกำ โมเดล” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาราษฎรผู้ประสบภัย การฟื้นฟูหลังน้ำลดและการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบในระยะยาวทันที”

 

นายธงชัย กล่าวว่า บางระกำโมเดล ชื่ออาจฟังดูใหม่ แต่แนวทางการทำงานไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐทำอยู่ สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การมีคณะทำงาน เครื่องมือสื่อสาร ระบบ ICT  และงบประมาณที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาจะได้รับการเหลียวแลจากระดับจังหวัด กระทรวงและรัฐบาลมากขึ้นเท่านั้น โดยทันทีที่ อ.บางระกำ เกิดน้ำท่วมขัง ทางตำบลและอำเภอ จะต้องประสานงานกับส่วนที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ สำรวจให้แน่ชัดว่ามีผู้ประสบภัยเท่าใด มีพื้นที่เกษตรเท่าใด เพื่อทำการช่วยเหลือเกี่ยวกับถุงยังชีพ ถนน สะพาน เรือ สังกะสี ไม้หนุนพื้นบ้าน หากพื้นที่ประสบภัยกว้าง ผู้เดือดร้อนมาก สามารถใช้ระบบ ICT สื่อสารส่งเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือในระดับที่สูงขึ้น ใครมาช่วยเหลือ จุดวอร์รูมอำเภอบางระกำ เป็นเซ็นเตอร์ที่ชัดเจน ในด้านการแบ่งงาน การเตรียมความพร้อม ด้านข้อมูลรวมถึงการกระจายความช่วยเหลือถึงมือประชาชนทันที หลังจากน้ำลด ทางศูนย์ฯต้องส่งทีมงานเข้าไปฟื้นฟูบรรเทา    

 

บางระกำโมเดล

อีกส่วนที่วางไว้เป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ระยะยาว เนื่องจากเราไม่มีเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ขณะเดียวกัน อ.บางระกำ เป็นพื้นที่รองรับน้ำจาก จ.แพร่ จ.สุโขทัย หลังมีการขุดลอกแม่น้ำยมสายเก่า ทำให้น้ำมาถึง อ.บางระกำ  เวลาเพียง  2-3 วัน แผนของ“บางระกำโมเดล” จะมีแผนในการแก้ไขปัญหาด้วยการ เตรียมผันน้ำจากแม่น้ำยม ลงสู่แม่น้ำน่าน ตั้งแต่ที่ หาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย สู่คลองเมม อ.พรหมพิราม คลองบางแก้ว อ.บางระกำ ก่อนไหลสู่แม่น้ำน่าน ที่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก   เบื้องต้นของการทำให้น้ำระบายได้เร็วขึ้น คือ มีการขุดลอกแม่น้ำยมสายเก่าต่อจากสุโขทัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก การขุดลอกลำคลอง แม่น้ำ ที่ตื้นเขิน เพื่อให้น้ำลำน้ำระบายได้คล่องตัวขึ้นรวดเร็วขึ้น 

 

เบื้องต้นแนวทางแก้ไขปัญหา ที่เห็นได้ชัด ในปี 2555 นี้ คือ ทางชลประทานจัดสรรงบประมาณจำนวน 530 ล้านบาท ภายใต้ชื่อโครงการปรับปรุงระบบผันน้ำยม-น่าน เป็นโครงการเร่งด่วน จำนวน 4 โครงการ 1 จ.อุตรดิตถ์ ประตูคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย พร้อมอาคาร งบประมาณ 150 ล้านบาท ที่ จ.พิษณุโลก โครงการคือ  ขุดลอกคลองระบายน้ำ DR 2.8 และ DR 15.8 พร้อมปรับปรุงอาคาร งบประมาณ 30 ล้านบาท ปรับปรุงประตูบางแก้ว 150 ล้านบาท และแกมงลิงบึงตะเครง 200 ล้านบาท

 

นายอำเภอบางระกำ กล่าวว่า สำหรับแผนระยะยาวนี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เสนอให้เพิ่มกระเพาะพื้นที่รับน้ำ หรือ แก้มลิง ในเขตอำเภอบางระกำ อีก 3-4  โครงการ คือ การขุดบึงตะเครง พื้นที่ 2,000 ไร่ บึงอีแร้ง พื้นที่ 300 ไร่ บึงระมาน พื้นที่4,000 ไร่ ที่รัฐบาลจะให้งบในการขุดลอกบึงน้ำร่อง  นอกจากนี้ ในปี 2555 นี้ ทางผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกได้อนุมัติงบประมาณของผู้ว่าฯ ในการทำแก้มลิงที่บ้านกรุงกรัก ใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท ในปี 2555 ส่วนงบขุดลอกคลองคด ระยะทาง17 กิโลเมตร ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณดำเนินการเท่าไหร่

 

บางระกำโมเดล

ก็นับว่า “บางระกำ โมเดล” จะเป็นโครงการนำร่องให้พื้นที่อื่นนำไปใช้เป็นแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหา ได้ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวง ทบวง กรมที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและที่สำหรับการเปิดไฟเขียวของนายกรัฐมนตรี     ที่ได้เห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอบางระกำ

ทุ่มงบประมาณในการจัดการ จึงจะเกิดเป็นรูปธรรมได้  นายอำเภอบางระกำ กล่าวในที่สุด

แสดงความคิดเห็น