นายปรีชา เผยว่า เป็นเรื่องที่เราทำกันมานานแล้ว จังหวัดพิษณุโลกเริ่มบริหารจัดการน้ำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไล่ตั้งแต่น้ำจะเข้า มีข้อมูล เพราะน้ำบางระกำท่วมมานานแล้ว มีข้อมูลว่าน้ำจะท่วมกี่หมู่บ้าน กี่ชุมชน พื้นที่เกษตรเท่าไหร่ มีการเตรียมการแล้ว แต่ปีนี้น้ำท่วมเร็วไปหน่อย เราบริหารจัดการและมีข้อมูล เมื่อเกิดน้ำท่วมจากดีเพรสชั่นไหหม่า นกเต็น ก็เข้าไปช่วยเหลือประชาชน ปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย แพ เรือ สะพาน ถนน โรงเรียน เมื่อช่วยเสร็จ ถึงจุดหนึ่งน้ำก็จะลดก็จะไปฟื้นฟู ถนนเสียหาย การเกษตร ปศุสัตว์ จะชดเชยเท่าไหร่ บ้านเรือน
สุดท้ายก็เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เมื่อน้ำเคยท่วมตรงนี้ ท่วมตรงนั้น ทำทางระบายน้ำดีขึ้น เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว แนวคิดผมคือ water way หรือทางน้ำไหล เมื่อก่อนน้ำท่วมมาก็ลงทุ่งแล้วระบายลงไป แต่ปัจจุบันมีถนนมาสร้าง เปรียบเสมือนเขื่อน ที่ต่ำก็ท่วมบ้านชาวบ้าน ลักษณะอย่างนี้ ผันน้ำ ทางด่วนน้ำ ไปที่ลุ่ม ที่ต่ำ โดยการขุดลอกคลองที่มีอยู่ให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น แล้วขับจากแม่น้ำยม สู่แม่น้ำน่าน สู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นองค์ความรู้ที่หน่วยงานด้านน้ำจะไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ที่กรมชลประทานรับเรื่องนี้ไปทำแล้ว ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี
ขณะที่น้ำเริ่มลด มาปลายกันยายนน้ำลดหมดก็น้ำแล้งอีกแล้ว เมื่อน้ำมาก ถ้ามีแก้วลิงเหมือนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สอนเรา พิษณุโลกมีพื้นที่มาก ปี 2555 จังหวัดก็เตรียมการที่บ้านกรุงกรัก ต.ท่านางงาม ไว้จุดหนึ่งแล้ว มีงบประมาณแล้ว เมื่อเจอรมว.เกษตรฯ ก็เสนอไปว่า มีพื้นที่ทำแก้มลิงอีก ที่บึงตระเคร็ง ต.ปลักแรด ประมาณ 1,200 ไร่ บึงแล้ว 1,300 ไร่ และบึงระมานอีก 1,300 ไร่ เป็นที่เก็บน้ำ เป็นพวง ๆ บึงหลาย ๆ บึงรวมกันก็เหมือนเป็นบึงใหญ่ เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ และทำคลองเชื่อมกันคือคลองคด กำลังหางบประมาณมาทำให้บึงต่าง ๆ เชื่อมถึงกัน
“ส่วนบางระกำโมเดลนั้น วันนี้ก็ให้ผู้ที่ทำงานได้ฟังว่า ที่เราทำงานทั้งหมดเราทำแล้ว แต่ยังไม่ได้บูรณาการร่วมกัน วันนี้มาตั้งเป็นวอร์รูม การสื่อสารได้ดี รายงานจังหวัดได้ รายงานนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ จังหวัดทำมาแล้ว เพียงแต่ทำให้เป็นระบบมากขึ้น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปานกลาง และระยะยาวได้” ผวจ.พิษณุโลก กล่าว