ได้-เสียน้ำท่วมเมืองพิษณุโลก

ต้นเดือนสิงหาคม 2554 ชาวเมืองพิษณุโลกตื่นตาตื่นใจกับระดับน้ำในแม่น้ำน่านที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว จนเกือบถึงตลิ่ง ผลจากฝนตกหนักในภาคเหนือ หลายฝ่ายวิตกว่าน้ำจะท่วมในเขตเศรษฐกิจหรือในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก มีการตั้งรับอย่างเต็มที่ กระสอบทราย เครื่องสูบน้ำ และเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง

                สรุปสองระลอกเมืองพิษณุโลกไม่ถึงจุดวิกฤติ แต่

ได้-เสียน้ำท่วมเมืองพิษณุโลก

ก็ถือว่าระดับน้ำสูงมาก 13 สค. 2554 น้ำน่านสูงสุด 9.71 เมตร 14 สค.2554 ระดับน้ำทรงตัวและลดลงเรื่อยๆ ต่ำกว่าจุดวิกฤติเมตรกว่าๆ

                ช่วงปี 2549-2550 เมืองพิษณุโลกก็ได้ลุ้นใจหายใจคว่ำมาแล้วครั้งหนึ่ง และก็รอดพ้น ส่วนน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 28 กันยายน 2538 ถือว่าวิกฤติมากน้ำมาทุกทิศทุกทาง แม่น้ำน่านทำสถิติสูงสุดที่ 10.51 เมตร ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมเขตอำเภอเมืองพิษณุโลกหลายจุด

                การป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเมืองพิษณุโลกมาจากการทำงานร่วมกันหายฝ่าย ทั้งผวจ.พิษณุโลก นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ชลประทานจังหวัดพิษณุโลก อาสาสมัครกู้ภัยต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปที่เข้ามามีส่วนร่วมติดตามสถานการณ์น้ำรายชั่วโมง

                การบริหารจัดการน้ำโดยบรรดิษฐ์  อินต๊ะ ผอ.โครงการชลประทานพิษณุโลกถือเป็นพระเอกตัวจริง ในการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัวเมืองพิษณุโลก เมื่อฝนตกหนักในตอนต้นของลุ่มน้ำน่าน มีการตรวจเช็คปริมาณน้ำที่คาดว่าจะเดินทางมาถึงพิษณุโลก เร่งระบายน้ำต้นทุนเก่าออก และคอยตรวจเช็คระดับน้ำรายชั่วโมง ประสานเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย ลดการปล่อยน้ำ และใช้เขื่อนนเรศวรในการบริหารจัดการน้ำ ที่หากปล่อยน้ำไหลมาตามมีตามเกิด คงเห็นน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำน่านแน่นอน

                วิธีป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเขตเศรษฐกิจ ถือเป็นผลดีสำหรับภาคธุรกิจ พี่น้องประชากรส่วนใหญ่ของเมืองพิษณุโลก และมีได้ ก็ต้องมีเสีย การใช้เขื่อนนเรศวรในการควบคุมน้ำ ส่งผลให้ต้องทดน้ำตอนเหนือเขื่อนนเรศวรระบายออกคลองชลประทานต่าง ๆ ที่มีอยู่ ผลก็คือ น้ำไหลเข้าทุ่งนาตอนเหนือเขื่อนนเรศวรจำนวนมาก พิษณุโลกฮอทนิวส์ ได้รับแจ้งจากพี่น้องชาวนาอ.พรหมพิราม ว่า น้ำไม่ท่วมเมืองพิษณุโลก แต่มาท่วมนาข้าวในอ.พรหมพิราม

                ตระเวนลุยข่าวน้ำท่วมในเขตอ.พรหมพิราม อ.บางระกำ แม้ไม่เห็นน้ำตาชาวนาจัง ๆ แต่ก็สัมผัสถึงความรู้สึกสูญเสียได้ ข้าวอายุสั้น 90-100 วัน เหลืออีก 1-2สัปดาห์ก็จะสุกงอมเกี่ยวได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่เมื่อเจอน้ำก้อนใหญ่ เงินแสนหายไปในพริบตา ปีนี้ น้ำผิดธรรมชาติ ทั้งจากฝนตกหนักและการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ครอบคลุมทั้งระบบ ส่งผลให้นาข้าวในพิษณุโลกประสบปัญหาน้ำท่วมเร็วกว่าปกติ

                เราชาวตัวเมืองได้ใช้ชีวิตปกติ ไม่เผชิญปัญหาน้ำท่วม ก็ขอให้นึกถึงผู้เดือดร้อน ส่งแรงใจ กำลังทรัพย์ ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ร่วมด้วยช่วยกันชาวพิษณุโลกด้วยกัน

                                                                                                เฮียหมง /14สค.54

แสดงความคิดเห็น