ยางพาราพืชเศรษฐกิจสุดฮ็อตที่พิษณุโลก

“ยางพาราพืชเศรษฐกิจสุดฮ็อตที่พิษณุโลก”
มงคลเชาวราช ทั่งมั่งมี/รายงาน

 

ช่วงเวลาไม่เกิน 10 ปี ยางพารา ได้เข้ามาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่แรงสุดๆ ของพิษณุโลก ภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปี 2552 พบว่าภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกยางพาราไปแล้ว693,812 ไร่ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในบรรดา 17 จังหวัดภาคเหนือ อยู่ที่ 152,768 ไร่ ขณะที่ตัวเลขประมาณการคาดว่าพิษณุโลกมีพื้นที่ปลูกยางพาราไปแล้วร่วม 2 แสนไร่ และยังมีแนวโน้มการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยราคายางแผ่นดิบที่ทะยานไม่หยุด

เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจดั้งเดิมอย่างข้าว ที่มีพื้นที่ปลูกต่อปีประมาณ 1 ล้านไร่แล้ว ยางพารา กำลังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของเมืองพิษณุโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้  ต่อไปผลผลิตของยางพาราจะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มเศรษฐกิจของจังหวัดพิษณุโลกเลยทีเดียว

การทำสวนยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกมีที่มาจากการทดลองปลูกในหลายพื้นที่ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เคยผ่านประสบการณ์และมองเห็นลู่ทางการปลูกยางพารา เพราะยางพารา ต่างจากพืชล้มลุกต่างๆ ที่เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหลักของพิษณุโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพาราผู้ปลูกต้องลงทุนสูง และต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก อย่างน้อย 7 ปี จึงเริ่มลงมีดกรีดยางขายได้ แต่ด้วยเป็นอาชีพที่ยั่งยืน ภาครัฐมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงกระแสการย้ายทุน นายหัวจากภาคใต้ ที่แห่มากว้านซื้อที่ดินราคาถูกในเขตอ.วังทอง อ.นครไทย และอ.ชาติตระการ มาปลูกสวนยางพารา ส่งผลให้ยางพารากลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยต้องรวมตัวกันทำยุทธศาสตร์รองรับการเติบโต

นายโสภณ กาฬสินธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ( สกย. ) จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า มีผู้ทดลองปลูกยางพาราในอ.วังทอง จ.พิษณุโลก ร่วม 20 กว่าปีนี้ กรีดแล้ว  แต่เป็นพันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตไม่ได้ จึงโค่นทิ้งแล้วรับทุนปลูกใหม่จากสกย.ไปแล้ว สภาพดินและภูมิอากาศของพิษณุโลกไม่ถึงดี แต่ปลูกได้ ในช่วงฤดูหนาวภาคเหนือจะให้ผลผลิตยางมากกว่าทางภาคใต้ ในพิษณุโลกจะได้เปรียบนิดหน่อยเพราะวันกรีดมากกว่า เนื่องจากปริมาณฝนน้อยกว่าภาคใต้ เฉลี่ยแล้ว ผลผลิตในพิษณุโลกให้ผลผลิต 280 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 2-3 กก.ต่อไร่ต่อวัน

ส่วนกระแสการมาบูมยางพาราจริง ๆ นั้น น่าจะเริ่มมาจากคนที่มีประสบการณ์การปลูกยางจากภาคใต้ และมาอยู่ในพิษณุโลก เช่น เขตพื้นที่ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลกนั้น มีนักลงทุนจากระยอง นำยางพาราเข้ามาปลูกเป็นรายแรก ๆ อายุ 15-20 ปีแล้วในปัจจุบัน และเริ่มกรีด ได้ผลผลิตดี จากนั้นยางพาราคาก็ยายตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ ทั้งจากนักลงทุนใต้ และนักลงทุนในจังหวัดพิษณุโลกที่มักลงทุนแปลงใหญ่ รวมถึงเกษตรกรรายย่อยทั่วไป ยิ่งถึงสมัยรัฐบาลทักษิณ  ชินวัตร เริ่มทำโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา1 ล้านไร่ ช่วงปี 2547-2549 ส่งผลให้การปลูกยางในพิษณุโลกก้าวกระโดอย่างมาก

“จากการสำรวจโดยสกย.ขอความร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่เมื่อปี 2551 พบว่า พิษณุโลกมีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งสิ้น 121,764 ไร่ มากที่สุดในอ.วังทองจำนวน 48,338ไร่ รองลงมาคืออ.นครไทย 28,429 ไร่ และอ.ชาติตระการ 27,870 ไร่ แต่จากภาพถ่ายดาวเทียมเมื่อปี 2552พบว่า พิษณุโลกมีพื้นที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคเหนืออยู่ที่152,768 ไร่ และจากการสำรวจจากการขายต้นกล้ายางพาราในปี 2554 คาดว่าพิษณุโลกมีพื้นที่ปลูกยางพาราแล้วไม่ต่ำกว่า 170,000  ไร่ “

นายโสภณ เผยว่า สกย.ได้เข้ามาตั้งสำนักงานในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อปี 2546 ได้พยายามดึงเกษตรกรเข้ามาร่วมในการดูแลของสกย. เพื่อผลประโยชน์ด้านต่าง ๆทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้การปลูก การกรีด และการแปรรูป รวมถึงการชดเชยกรณีตัดสวนยางทิ้ง แต่มีผู้ปลุกบางส่วน ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการกับสกย.ส่วนใหญ่แล้วเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่ปลูกแปลงใหญ่ มีเงินทุนสูง ไม่จำเป็นต้องพึ่งสกย. กลุ่มนี้มีอยู่มาก ข้อมูลที่สำรวจพบกลุ่มผู้ปลูกยางที่ไม่เข้าร่วมกับสกย.มีถึง 94,051 ไร่

“ราคายาง ณ ปัจจุบัน มีผลต่อการเพิ่มพื้นที่ปลูกยางในจังหวัดพิษณุโลกแน่นอน ราคายางจะไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมาปลูกสวนยางพาราคาเพิ่ม และการทำสวนยางเป็นอาชีพที่ยั่งยืนกว่าการปลูกพืชล้มลุก ยางพารา 1 ไร่ ปลูก ระยะห่าง 3 เมตร คูณ 7 เมตร รวมแล้ว 1 ไร่ ปลูกยาง 76 ต้น การลงทุน ค่าพันธุ์ ค่าปลูก ค่าบำรุงรักษาจนถึงอายุยางพารา 7 ปี ระยะที่จะเริ่มกรีดยางได้ ( เส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ) รวมแล้วลงทุน 7 ปีประมาณ ไร่ละ 15,000 บาท เพราะฉะนั้นปีที่ 8 เริ่มกรีด ก็น่าจะได้ทุนคืนแล้ว

สำหรับพันธุ์ที่ปลูกในจังหวัดพิษณุโลกส่วนใหญ่เป็ร พันธ์อาร์อาร์ไอเอ็ม 600 เป็นพันธุ์ยางที่ให้น้ำยางสูง และให้เนื้อไม้ดีด้วย เป็นพันธุ์ยางชั้นหนึ่ง ที่ทางการให้การส่งเสริม ในประเทศไทยปลูกพันธุ์นี้ประมาณ 80 % รวมถึงเป็นพันธุ์หลักที่ปลูกในพิษณุโลกด้วย การให้น้ำยางสม่ำเสมอ

 

ดต.ชัชวาลย์  ยิ้มแก้ว อายุ 65 ปี ตำรวจนอกราชการที่มาลงทุนปลูกสวนยางพารา 80 ไร่ ในพื้นที่บ้านหินลาด ม.14 ต.ดอนทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า เดิมตนรับราชการตำรวจ แต่เกษียณก่อนกำหนด มีที่ดินอยู่ 80 ไร่ มองว่า ยางพาราจะเป็นพืชที่สร้างความมั่นคงได้ เพราะลงทุนครั้งเดียว แต่เก็บเกี่ยวได้ตลอดตั้งแต่อายุ 7-25 ปี เมื่อยางแก่ ให้ผลผลิตน้อย ก็ยังโค่นขายยางเป็นไม้เฟอร์นิเจอร์ได้ เมื่อลองศึกษาดู ประกอบกับมีโครงการส่งเสริมยาง 1 ล้านไร่ จึงไปร่วมกับสกย. ได้สนับสุนพันธุ์ยางมาประมาณ 40 ไร่ สกย.มาติดตามดูแลตลอด ตั้งแต่วิธีปลูก การดูแลรักษา กระทั่งปัจจุบันจะเริ่มกรีดได้แล้ว ก็มีการอบรมการกรีดให้อีก

 

ดต.ชัชวาลย์ เผยต่อว่า ผู้ที่ปลุกสวนยางในพิษณุโลกถ้าเป็นรายใหญ่แล้วมักจะเป็นนักลงทุนจากภาคใต้ ที่มาซื้อที่ต่อจากชาวบ้านในเขตอ.วังทอง อ.นครไทย อ.ชาติตระการ แล้วปลูกสวนยางขนาดใหญ่ พวกนี้ทุนสูง นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนในพิษณุโลกที่มีศักยภาพ ที่นิยมมาซื้อที่ต่อจากชาวบ้านแล้วปลูกยางระดับ 100 ไร่ขึ้นไป ส่วนเกษตรกรที่ปลูกเองนั้น ก็มีมาก แต่เนื้อต่อรายที่ไม่มากนัก

 

สำหรับการซื้อขายยางพาราในจังหวัดพิษณุโลกนั้น ขณะนี้เริ่มมีผลผลิตออกมาบ้างแล้ว มีสวนยางพาราที่เปิดกรีดได้น้ำยางออกมาแล้ว 3,000 ไร่ ที่ผ่านมา สกย.ได้เปิดตลาดกลางกระจายไปตามอำเภอต่าง ๆ อาทิ อ.วังทอง อ.เนินมะปราง ได้ราคาซื้อขายค่อนข้างดี นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากผู้รับซื้อยางรายใหญ่ ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 พิษณุโลก ระบุว่า บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่สำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่การลงทุนอยู่ ถ.วังทอง-พิษณุโลก อ.วังทอง พิษณุโลก มูลค่าการลงทุน 109.4 ล้านบาท เพื่อผลิตยางผสม หรือ Compound Rubber กำลังผลิต 36,000 ตันต่อปี และยางแผ่น และยางแผ่นรมควัน หรือ Ribbed Smoked Rubber Sheet กำลังผลิต 18,000 ตันต่อปี เพื่อการส่งออก 90% โดยมีตลาดเป้าหมายอยู่ที่ไอร์แลนด์ มาเลเซีย จีน และสิงคโปร์

 

โรงงานของไทยฮั้วที่พิษณุโลกนี้ ถือว่ามีขนาดใหญ่กว่าที่เคยสร้างใน 9 จังหวัดต่างๆ เช่น หาดใหญ่ ระยอง อุดรธานี สกลนครฯลฯ โดยมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับโรงงานไทยฮั้ว ที่ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย และอนาคตบริษัทไทยฮั้ว ยังมีแผนขยายพื้นที่การลงทุนไปยัง จ.เชียงราย

 

“ปริมาณยางแผ่นดิบแถบภาคเหนือตอนล่างจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยนับจากปี 2555 เป็นต้นไป สวนยางพาราส่วนใหญ่จะเปิดกรีดครบทุกแปลง จะมีปริมาณน้ำยางอัตราต่ำสุด 250 กิโลกรัมต่อไร่กรณีไทยฮั้ว ตั้งโรงงาน ถือว่า เป็นเรื่องดีต่อเกษตรกรในพิษณุโลก เพราะจะขายยางได้ราคาเทียบเท่าทางภาคใต้ หักค่าขนไม่ถึง 2 บาทเท่านั้น. ผลประโยชน์ตกที่ชาวสวนยางในพื้นที่”

 

นายประสิทธิ์ หมีดเส็ง รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์ทำสวยยาง ( สกย. ) เปิดเผยว่าพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศมีประมาณ 17 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถปลูกได้เพิ่มอีกหลายล้านไร่ โดยเฉพาะภาคอีสาน แต่เราคงไม่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพารามากเกินไป เนื่องจากว่ายังมีพืชอื่นที่มีความสำคัญสำหรับประเทศ พื้นที่ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ที่จะเป็นพลังงานทดแทนของชาติในอนาคตจะมีปัญหา ประเทศไทยเรา ควรจะทำนโยบายออกมากว่า ประเทสไทยพื้นที่การเกษตรที่เหมาะจะปลูกยางพารา 40 ล้านไร่ เราจะให้ปลูกสูงสุดได้กี่ไร่ จะปลุกปล์มเท่าไหร่ อ้อยกี่ไร่ เพื่อสร้างความสมดลทางเศรษฐกิจ ถ้าเราปลูกยางหมด อนาคตยางราคาตก แล้วรัฐบาลจะรับผิดชอบได้อย่างไร

 

อีก 4-5 ปีข้างหน้า ปัญหาราคายางพาราคงยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีประเทศที่อยู่ในโซนเดียวกับเราเริ่มปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นมาก ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศแถบแอฟริการ ก็เริ่มปลูกยางพารากันมากขึ้น แทนที่จะเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพารา ประเทศไทยควรจะกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสวนยางพาราให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากขึ้น จาก 278 กิโลกรัมต่อไล่ต่อปี ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราปี 2556 มีเป้าหมายจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ 306 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อปี พื้นที่เท่าเดิม แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ไทยก็ไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่ปลูกยางเหมือนประเทศอื่น

“ผลผลิตยางพาราในพื้นที่ปลูกใหม่อย่างภาคเหนือและภาคอีสานเมื่อเทียบกับทางยางพาราทางภาคใต้แล้ว ผลผลิตจะต่ำกว่าทางภาคใต้ประมาณ 10 % ผลผลิตทางภาคเหนืออยู่ประมาณ 250-260 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ขณะที่ภาคใต้เฉลี่ย 280 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงผู้ปลุกยางรายใหม่ ๆ ด้วย ปีนี้ ยางพาราในโครงการยาง1 ล้านไร่ กำลังเริ่มระยะกรีด เข้าปีที่ 6-7 แล้ว แต่ยางพาราปีปลูกไม่สำคัญ สำคัญขนาดเส้นรอบวงต้องได้ขนาด ราคายางพาราคาที่พุ่งสูงมากในปัจจุบัน ส่งผลให้เกษตกรเร่งกรีดยางกันมาก จะส่งผลให้ผลผลิตได้ต่ำ เนื้อยางน้อย และจะชะงักการเจริญเติบโต” รองผอ.สกย.กล่าว

กระแสการลงทุนปลูกยางพาราในพื้นที่พิษณุโลกนั้นคาบเกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างมาก ช่วงปี 2553 ที่ผ่านมา ป่าไม้พิษณุโลกร่วมกับหน่วยงานมั่นคงออกตรวจสอบและจับกุมในหลายพื้นที่ในเขตอ.วังทอง อ.นครไทย และอ.ชาติตระการ พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหลายจุด มีการแผ้วถางแล้วลงเป็นแปลงสวนยางขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วนายทุนจะจ้างชาวบ้านในพื้นที่ทำการแผ้วถางและเป็นแรงงานในการปลูกยาง ล่าสุดป่าไม่ร่วมกับฝ่ายปกครองงัดมาตรการขั้นเด็ดขาด ใช้มาตรา 25 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ตรวจพบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนจะดำเนินการตามมาตรการปกครองโดยตรวจยึดพื้นที่และทำลายสวนยางพาราทันที เป็นการปรามนายทุนเงินถึงที่คิดจะปลูกสวนยางพาราแต่อยากได้ที่ดินราคาถูกไปบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ……….

 

แสดงความคิดเห็น